ตีกันฝ่ายค้าน ฉวยเวทีนโยบาย ชำแหละ ‘14รัฐมนตรี’

21 ก.ค. 2562 | 04:00 น.

ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่หากการอภิปรายไม่เสร็จสิ้น ก็สามารถอภิปรายต่อได้ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม

ขณะที่การเตรียมตัวเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ได้มีส.ส.แสดงความจำนงที่จะอภิปรายไว้แล้ว เกือบ 50 คน

สำหรับเนื้อหาการอภิปราย ได้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม มีหัวหน้าชุดและวิทยากรเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละชุด อาทิ อดีตผู้บริหารพรรค อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ รวมถึงนักวิชาการทั้งภายในพรรคและนอกพรรค

 

จัด6กลุ่มอภิปรายนโยบาย

สำหรับเนื้อหาการอภิปรายของฝ่ายค้านจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ด้านเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าเกษตร
ราคาตกตํ่า ระบบคมนาคม รายได้ท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาอย่างไร

2. ด้านการเมือง อาทิ กฎหมาย หลักธรรมาภิบาล กรอบคุณธรรม จริยธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคุณสมบัติของรัฐมนตรี 3. ด้านความมั่นคง อาทิ สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการควบคุมสิทธิเสรีภาพด้านโซเชียล

4. ด้านสังคม อาทิ การสาธารณสุขของประเทศ ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็ก สตรี และคนชรา รวมถึงความไม่พร้อมที่จะนำนโยบายกัญชามาใช้กับประเทศไทย 5. ด้านการศึกษา ซึ่งจะมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นพี่เลี้ยงให้

และ 6. ด้านการกระจาย อำนาจ อาทิ การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ว่าควรจะใช้ อำนาจอย่างไร โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน จะเป็นผู้อภิปรายเปิดประเด็น ก่อนที่จะกลับมาสรุปในช่วงท้ายอีกครั้ง

 

ชำแหละคุณสมบัติ14รมต.

ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้าน ได้เตรียมอภิปรายถึงความเหมาะสมของคุณสมบัติรัฐมนตรีที่เข้ามาผลักดันในแต่ละนโยบาย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย

1. กลุ่ม “3 ป.” คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

2. กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างอยู่ ประกอบด้วย 1. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง 2. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ 3. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม 4. นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ 5. นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ 6. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

3.กลุ่มที่มีคดีกบฏ-ชุมนุมการเมือง 1. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 2. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

4. กลุ่มรัฐมนตรีที่ถือหุ้นสื่อ ประกอบด้วย 1. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน 2. นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารสุข และ 3. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ตีกันฝ่ายค้าน ฉวยเวทีนโยบาย ชำแหละ ‘14รัฐมนตรี’

 

ยอมรับเหมือนซักฟอก

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ฝ่ายค้านวางกรอบอภิปราย 3 หัวข้อใหญ่คือ 1. ตัวนโยบายที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่หลากหลายบนการต่อรองผลประโยชน์ จึงขาดเอกภาพทางความคิด นโยบายที่ออกมาน่าจะ ขาดความแหลมคม ลุ่มๆ ดอนๆ ขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น

2. ตัวบุคคลคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนมีคุณสมบัติสีเทา ขัดจริยธรรมและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยเฉพาะตัวนายกฯ ที่อยู่ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ หากคำตอบออกมาว่าเป็น ก็จะขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯ เพราะขัดรัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลจบเห่ และนโยบายที่แถลงก็เป็นฝันค้างเท่านั้น

และ 3. ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่บางพรรคการเมืองใช้เป็นเหตุผลเข้าร่วมรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดการแก้ไข หากไม่ปรากฏในนโยบายก็ไม่สมควรอาสารับใช้ประชาชนอีกต่อไป ทั้ง 3 หัวข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ยึดโยงกัน การอภิปรายต่อการแถลงนโยบายรัฐบาล จึงเสมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปในตัวอย่างช่วยไม่ได้

 

“วิษณุ”ชี้ช่องใช้วิธีเลียบค่าย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดโอกาสให้สามารถอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรีได้ด้วย ว่า ประธานรัฐสภาบอกแล้วว่าได้ ถ้าทำเป็นก็ได้อยู่แล้ว ถ้าพูดเป็น ไม่ใช่ลุกขึ้นแล้วซัดเปรี้ยงเอา ถ้าพูดเป็นต้องพูดต่อไปว่า นโยบายอย่างนี้ ต้องคนที่มาปฏิบัติต้องนึกถึง แล้วคนนั้นนึกถึงมั้ย ถ้าพูดอย่างนั้นก็เข้าเรื่อง ก่อนที่นายวิษณุ จะพูดทิ้งทายแบบติดตลก “ผมไม่ควรไปแนะฝ่ายค้าน”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามที่ว่ากังวลหรือไม่ว่าในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ฝ่ายค้านจะอภิปรายนอกประเด็น ว่า ไม่ เพราะมองว่าประชาชนอยากฟังในเรื่องที่สร้างสรรค์ว่านโยบายของรัฐบาลมีอะไรบ้าง และนโยบายมีอะไรขาด หรือต้องเพิ่มเติมตรงไหนหรือไม่ จึงต้องมาร่วมกันทำงาน เชื่อว่าทุกคนอยากให้บ้านเมืองไปได้

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวเช่นกันถึงพรรคฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายคุณสมบัติรัฐมนตรีที่มีคดีค้างเก่าว่า ถ้ามีอะไรที่จะต้องชี้แจงก็ต้องชี้แจงด้วยหลักฐาน การกล่าวหาจะต้องกล่าวหาด้วยหลักฐาน ของอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งที่มีการบันทึก โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อ สามารถตรวจสอบไปที่กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็จะทราบรายละเอียดทุกเรื่องอยู่แล้ว เรื่องนี้มีข้อกฎหมายอยู่แล้ว

 

ตีกันฝ่ายค้าน ฉวยเวทีนโยบาย ชำแหละ ‘14รัฐมนตรี’

 

ตีกันอภิปรายนอกกรอบ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ได้ร้องขอไปยังตัวแทนวิปฝ่ายค้านว่า ขอให้อภิปรายในกรอบของนโยบายรัฐบาล ส่วนการอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรีทำได้ตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติไว้

สำหรับคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมนั้น ไม่ควรตรวจซํ้าอีก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีองค์กรอิสระและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อให้การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลเกิดประโยชน์ ควรยึดถือประเด็นนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากข้อเสนอแนะของแต่ละฝ่าย 

 

ล็อกอภิปรายนโยบาย 2 วัน

ให้เวลา 28 ชั่วโมง

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลัง-ประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงกรอบเวลาในการรับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคมว่า กำหนดเวลาอภิปรายทั้งสิ้น 28 ชั่วโมง โดยจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 09.00 - 24.00 น.ของทั้ง 2 วัน

สำหรับการจัดสรรเวลาให้แต่ละฝ่ายได้อภิปรายนั้น จะให้เวลาส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านรวม 13.5 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง และส.ว. 5 ชั่วโมง โดยยังไม่รวมเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะแถลงนโยบาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดสรรเวลาให้กับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนั้น เบื้องต้นจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม และเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องจัดตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล เนื่องจากส.ส.ทุกคนมีวุฒิภาวะ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งจะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนใจเย็น

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ได้กำหนดหลักเบื้องต้นคือ ให้ส.ว.อภิปรายเนื้อหานโยบายตามความเชี่ยวชาญและความชำนาญของบุคคล เชื่อว่า ส.ว.จะเน้นการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ ไม่ใช่การสนับสนุนแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562

ตีกันฝ่ายค้าน ฉวยเวทีนโยบาย ชำแหละ ‘14รัฐมนตรี’