พิษค่าแรง 400 บาท ‘หุ้นรับเหมา’กระอัก

21 ก.ค. 2562 | 03:36 น.

โบรกฯคาดรัฐบาลเดินหน้าสานต่อนโยบายหาเสียง ดันกระแสปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าวันละ 400 บาทกลับมาอีกครั้ง ชี้กระตุ้นการบริโภค แต่กระทบผลการดำเนินงาน บจ.กลุ่มพึ่งพาแรงงาน หลังค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าวันละ 400 บาท เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของรัฐบาลที่กำลังถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นการเพิ่มรายรับให้กับแรงงาน ที่จะมาใช้จ่ายกระตุ้นกำลังซื้อได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการที่พึ่งพาแรงงานเป็นส่วนใหญ่กลับได้รับผลกระทบเต็มๆ และเกิดการคัดค้าน จึงต้องจับตาการผลักดันกันต่อไป

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า คาดว่า นโยบายที่ภาครัฐจะเร่งดำเนินการก่อนคือ นโยบายระยะสั้น โดยเฉพาะกระตุ้นการบริโภค ส่งผลให้กระแสนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่ากลับมาอีกครั้ง หลังจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าเป็นวันละ 400 บาท หรือปรับเพิ่มประมาณ 23% จากปัจจุบันอยู่ที่วันละ 325 บาท

พิษค่าแรง 400 บาท  ‘หุ้นรับเหมา’กระอัก

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

 อย่างไรก็ตาม หากปรับขึ้นจริงจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่ในทางตรงกันข้ามจะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ จะมีผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) จากค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ถูกกระทบคือ รับเหมาก่อสร้าง, ค้าปลีก, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเกษตรอาหาร แต่ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรง ต้องมีระยะเวลาในการพิจารณา 3 เดือน เพราะต้องหารือจากตัวแทนทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และลูกจ้าง

 

การปรับขึ้นค่าแรงดีต่อกลุ่มค้าปลีก โรงพยาบาลและท่องเที่ยว และยังหนุนการเติบโตของสินเชื่อ ดีต่อกลุ่มการเงิน ขณะเดียวกันทางฝั่งผู้ประกอบการเองน่าจะเร่งกระตุ้นยอดขาย ด้วยการทำโฆษณามากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มบันเทิง

พิษค่าแรง 400 บาท  ‘หุ้นรับเหมา’กระอัก

สำหรับหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ รับเหมาก่อสร้าง เพราะเฉลี่ยค่าแรงคิดเป็น 10-15% ของต้นทุนก่อสร้าง ซึ่งหากปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว จะทำให้บริษัทรับเหมา มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงประมาณ 2% จากปัจจุบันบริษัทรับเหมาก่อสร้างมี Gross margin เฉลี่ย 8-12% และมี Net Profit margin 2-6% โดยบริษัทที่จะกระทบมากสุดคือ บริษัทที่มีอัตรากำไรตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมและใช้แรงงานสูง

ปัจจุบันบริษัทรับเหมาก่อสร้างปรับวิธีการทำงาน ด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ ลดการใช้แรงงานคนและใช้วิธี Sub contract งานเป็นส่วนๆ ออกไปให้กับผู้รับเหมาช่วง โดยเชื่อว่า งานประมูลภาครัฐจำนวนมากที่จะออกมา จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลง ส่งผลต่ออัตรากำไรของงานก่อสร้างใหม่ๆ ในอนาคตจะดีขึ้น เมื่อถัวเฉลี่ยกับงานในมือ(Backlog)เดิมที่จะถูกกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง

 

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ 5-8% ของต้นทุนรวมคาดว่า จะกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มนี้ 11.7% ส่วนกลุ่มเกษตรและอาหาร มีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ 1.5-8% ของต้นทุนรวม คาดจะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไร 25% และกลุ่มยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรง 5-10% ของยอดขาย จะส่งผลให้ค่าจ้างพนักงานในแผนกผลิตเป็นปีละ 134-142 ล้านบาท หรือกระทบต่อกำไรประมาณปีละ 20-30 ล้านบาท

ขณะที่หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR) บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) (SVI) บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA) บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) (KCE) และ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA)

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562

พิษค่าแรง 400 บาท  ‘หุ้นรับเหมา’กระอัก