จับตาสตาร์ตอัพ ‘เฮลธ์เทค’รุ่ง รับสังคมสูงวัย-ใส่ใจสุขภาพ

21 ก.ค. 2562 | 03:30 น.

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเฮลธ์เทคนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยและเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน โดยจำนวนผู้ประกอบการด้านเฮลธ์เทคเพิ่มขึ้นจาก 28 รายในปี 2560 เป็น 55 รายในปี 2561 รวมถึงเฮลธ์เทค สตาร์ตอัพ ที่เติบโตต่อเนื่องจากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

ล่าสุดเฮลธ์เทคสตาร์ตอัพ อย่าง QueQ ระบบบริหารจัดการคิวในโรงพยาบาล ได้รับการลงทุนในระดับ ซีรีส์ A มูลค่าเงินลงทุนราว 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ OOCA แพลตฟอร์มช่วยเข้าถึงบริการ ด้านสุขภาพจิต ที่ได้รับการลงทุนจากกองทุน Expara โดยในปีนี้คาดว่าจะมีเฮลธ์เทคสตาร์ตอัพ ที่ได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร รองนายกสมาคมเฮลท์เทคไทย เปิดเผยว่า จำนวนผู้ใช้งานแอพพลิ เคชันของสมาชิกสมาคมเฮลธ์เทค ไทยมีกว่า 20 ล้านรายการต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กรที่ใช้บริการเฮลธ์เทค ปัจจัยที่น่ากังวล คือ องค์กรขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร หรือ โรงพยาบาลเอกชน หันมาพัฒนา นวัตกรรมของตนเอง จนบางครั้งขยายพื้นที่ทับซ้อนมายังบริการของเฮลธ์เทค โดยส่วนตัวมองว่าองค์กรต่างๆ ควรร่วมมือกับสตาร์ต อัพในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ และมองเฮลธ์เทคเป็นหน่วยงานวิจัยด้านนวัตกรรมที่พร้อมให้องค์กรต่างๆ ร่วมต่อยอดธุรกิจต่อไป

จากการเติบโตของอุตสาหกรรมเฮลธ์เทคดังกล่าวส่งผลให้ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชียฯ ได้จัดงาน เมดิคัลแฟร์ ไทยแลนด์ ครั้งที่ 9 ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นำเสนอแนวคิด เทคโนโลยี นวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยในปีนี้จะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่จะมาแสดงสินค้าเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต

ดร.คัคนานต์ สรุงบุญมี นักวิชาการผู้ริเริ่มและก่อตั้งศูนย์เหมืองข้อมูลและสารสนเทศชีวการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะบรรยายภายในงาน เมดิคัล แฟร์ในหัวข้อ “บทบาทของธุรกิจ Start-up ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย และ Co-working Space มีส่วนช่วยอย่างไร” ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีด้านสุขภาพในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในฐานะของผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นหลัก แต่เป็นส่วนน้อยที่จะผลิตหรือจำหน่ายเอง จึงทำให้นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นั้นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ออกมาส่วนใหญ่นั้นมุ่งเน้นไปที่การใช้เพื่อรักษา แต่ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ

ทั้งนี้เรื่องของอีโคซิสเต็มในการทำงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจากนวัตกรรมทางการแพทย์จำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบไอเดีย ทดสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งในการพัฒนาค่อนข้างที่จะต้องใช้เวลา มีกระบวนการในการสร้างนวัตกรรม ส่วนหนึ่งที่ทำให้นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยยังไม่รุดหน้า มาจากการไม่มีอีโคซิสเต็มที่เป็นระบบและโคเวิร์กกิ้งสเปซ คอมมิวนิตี ที่เอื้อต่อการทำงาน หากมีองค์ประกอบดังกล่าว ก็จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ของไทยเติบโตไปได้อีกมาก และผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นเมดิคัลฮับ

จับตาสตาร์ตอัพ ‘เฮลธ์เทค’รุ่ง รับสังคมสูงวัย-ใส่ใจสุขภาพ

   “นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยเริ่มเกิดขึ้นมากมาย แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ยากและมีความท้าทายในการพัฒนา รวมไปถึงการปรับตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทุกคนต่างก็ทำงานในพื้นที่ของตนเองไม่ได้มีการทำงานร่วมกัน โดยที่เราเรียนรู้จากธุรกิจอื่นเพื่อนำมาปรับใช้กับของตนเอง”

 

หากพูดถึงเรื่องของธุรกิจสตาร์ตอัพนั้น สิ่งที่นึกถึงคือเรื่องของสเกลหรือขยายขนาดธุรกิจไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเชิงการแพทย์นั้นไม่สามารถเร็วได้ นักลงทุนที่เข้ามาจะต้องเข้าใจในจุดนี้ เพราะอาจจะทำให้ได้ผลตอบ แทนที่ช้ากว่าสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะที่ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมได้มาก เนื่องจากมีปัญหาหรือสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขค่อนข้างหลากหลาย

ด้าน ดร.รินา ภัทรมานนท์ ผู้เข้าชิงรางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิง ของอาเซียน ASEAN -US Prize for Woman ในปี 2560 และมีส่วนร่วมในโครงการเทคโนโลยี Talent Mobility ที่จะเข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ ความท้าทายของผู้หญิงและการเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่มีผู้ชายเป็นผู้ชี้นำ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบทบาทของผู้หญิงที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ชายนั้นจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงมักไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมในการตัดสินใจในองค์กรธุรกิจต่างๆ หรือแม้แต่ภาคการศึกษา ซึ่งในเชิงของความเป็นมืออาชีพนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้แต่ในเชิงจิตวิทยาแล้ว ส่งผลให้เกิดความคิดหรือประเด็นที่ว่า การเป็นผู้หญิงนั้นมีผลอย่างไร ขณะที่ในอนาคตบุคลากรในสายงานด้านการแพทย์นั้นเริ่มมีผู้หญิงเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย ดังนั้นความท้าทายจึงน่าจะอยู่ในเจเนอเรชันต่อๆ ไป 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3489 ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562