ขน 54 ขบวนเดินรถสายสีนํ้าเงินบูมพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี

20 ก.ค. 2562 | 23:45 น.

 

หลายคนได้เห็นความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ มานาน สู้อดทนฟันฝ่าการจราจรช่วงก่อสร้างเพื่อหวังว่าในอีกไม่นานจะได้ใช้บริการโดยไม่ต้องเจอปัญหารถติดอีกต่อไป พร้อมกับได้เห็นความเจริญของเมืองและพื้นที่รอบสถานีปรับเปลี่ยนไป วันนี้เป็นจริงแล้วเมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แถลงเปิดความพร้อมทดลองให้บริการเดินรถต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นายภคพงศ์ ศิริ กันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM ร่วมให้สัมภาษณ์ว่า ได้กำหนดเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค จากสถานีวัดมังกรฯ-สถานีท่าพระ โดยไม่คิดค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมนี้-28 กันยายน 2562 ก่อนที่จะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติจากสถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสองตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2562 ในส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ นั้นมีกำหนดเปิดให้บริการเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยทั้งระบบคือช่วงเตาปูน บางซื่อ หัวลำโพง ท่าพระ หลักสอง จะใช้รถจำนวน 54 ขบวนให้บริการ

โดย 5 สถานีที่เปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-ท่าพระนี้ประกอบด้วย สถานีวัดมังกรฯ สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และสถานีท่าพระ หลังจากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการไปตามความก้าวหน้าของงานและความพร้อมของระบบที่เกี่ยวข้องช่วงละ 2 สถานีไปจนถึงสถานีหลักสอง โดยผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสายสีนํ้าเงิน (สถานีเตาปูน-สถานีหัวลำโพง) จะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง โดยจะคิดค่าโดยสารตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท และค่าโดยสารจะเพิ่มตามระยะทางไปถึงอัตราสูงสุด 42 บาท โดยสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ตามปกติ มีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท

ขน 54 ขบวนเดินรถสายสีนํ้าเงินบูมพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอส เช่นเดียวกับสายสีนํ้าเงินนี้เริ่มเห็นการพัฒนาหลายโครงการมากขึ้นทั้งแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม ส่วนที่จะเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นคือถนนเจริญกรุงใกล้สถานีวัดมังกรฯ ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD ที่มีให้เห็นในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง

 

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินจะมีให้เห็นไม่น้อยกว่า 3 สถานี คือ วัดมังกรกมลาวาส สามยอด สนามไชย อิสรภาพ และท่าพระ โดยเฉพาะสถานีใต้ดินในย่านธุรกิจเก่าแก่ของกรุงเทพฯ คือ วัดมังกรฯ สามยอด และสนามไชย ล้วนสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากระบบขนส่งมวลชนตามมาแน่ๆ

“เยาวราช เจริญกรุงจะเริ่มเห็นการพัฒนาด้านการพัฒนาเมืองรอบสถานีซึ่งยังพบอีกว่ารอบๆสถานีเหล่านี้มีเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สามารถกำหนดแผนพัฒนาในอนาคตต่อไปได้ อาทิ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลนิธิจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ โดยรฟม.มีหน้าที่พัฒนาระบบขนส่งมวลชนเข้าไปรองรับการเดินทางของประชาชน การพัฒนา ที่ดินเอกชนจะได้รับประโยชน์แบบเต็มๆ มากกว่า” 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3489 ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562