อย่าให้แร้งลง บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

19 ก.ค. 2562 | 08:05 น.

มีคำกล่าวหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเนิ่นนานที่ว่ารัฐวิสาหกิจเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของผู้เรืองอำนาจทางการเมือง หากใครช่างสังเกตจะเห็นว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งใด  รายชื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจบางคน จะถูกปรับเปลี่ยนตามผู้เรืองอำนาจทางการเมือง

 

ความสัมพันธ์ของผู้เรืองอำนาจทางการเมืองกับรัฐวิสาหกิจ จึงน่าสนใจไม่น้อย

 

นี่ก็เป็นอีกมูฟเมนต์ที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 กลายร่างเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง 

 

หนึ่งในนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งในคณะกรรมการแต่ละรัฐวิสาหกิจ ว่าจะกลับไปสู่วังวนเดิมๆอย่างที่เคยเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ มีกำไรโดดเด่น ไม่เฉพาะกลุ่มพลังงาน กลุ่มคมนาคม การขนส่ง หรือกลุ่มการสื่อสาร เท่านั้น

 

หากมองดูผิวเผิน เหมือนว่าการเข้าไปเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเงินเดือนประจำ โบนัส    เบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายอื่นๆเท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นตำแหน่งที่สามารถเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้เรืองอำนาจทางการเมืองเหล่านั้นได้

 

เป็นไปได้ว่า คนของผู้เรืองอำนาจทางการเมืองที่เข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็อาจจะใช้บารมีส่วนตัวหรือในรูปแบบใดก็ได้ให้กรรมการคนอื่นๆโหวตเสียงกำหนดทิศทางที่กลุ่มตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียได้ โดยเฉพาะในส่วนงานจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากในเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังเอาชื่อไปเป็นเครื่องมือหาประโยชน์อย่างอื่นๆ อีก

 

หรือว่าไม่จริง

 

รัฐวิสาหกิจในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น จะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน แต่สำหรับประเทศไทยผลจากการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และการตอบแทนความดีความชอบหรือปูนบำเหน็จทางการเมืองมีผลทำให้รัฐวิสาหกิจกลายเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้เรืองอำนาจทางการเมืองและมีผลต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมาก

 

ไม่ว่าจะอ้างจุดประสงค์อย่างไร คนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ก็คือบรรดาวงศ์วานของผู้เรืองอำนาจทางการเมืองนั่นเอง  อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการสามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้นทุกยุคทุกสมัย ระหว่างฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการ

 

การที่รัฐวิสาหกิจแยกระหว่างฝ่ายนโยบายกับฝ่ายบริหารนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งฝ่ายนโยบาย ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่แต่งตั้งพรรคพวกของตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งโครงสร้างที่ว่านี้ก็ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความคิดและความพยายามที่จะปฏิรูป  ปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงนั้น  ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเอามากๆ เมื่ออ่านรายละเอียดพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ในหมวด 2 มีกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 3 ถึงมาตรา 21  ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม  2562 ที่ผ่านมา  ได้กำหนดแนวทางในการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมที่รัดกุมขึ้น เข้ามาเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีมาก่อน

 

 ถือเป็นการปิดช่องทางผู้เรืองอำนาจมิให้เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์สารพัดรูปแบบในรัฐวิสาหกิจ 

 

ที่น่าสนใจยิ่งกว่า  เมื่อวันนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่คณะบุคคล บิ๊กๆเหล่าทัพ บิ๊กๆข้าราชการ  ที่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในยุครัฐบาลใต้ปีกคสช. ถูกตั้งคำถามว่าจะมีใครสักกี่คนผ่านเกณฑ์เรื่องความสามารถ มีประสบการณ์ที่เหมาะสมกับกิจการนั้นๆ ตามพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562 ฉบับใหม่ที่กำหนดไว้บ้าง 

 

แต่นั่นแหละ ยังไม่มีใครรู้ว่า จะมีผู้เรืองอำนาจ แหกกฎหรือไม่

 

อย่ากระพริบตา