จีนพหุนิยม: เฉิงเต๋อและราชวงศ์ชิง

19 ก.ค. 2562 | 05:49 น.

จีนพหุนิยม: เฉิงเต๋อและราชวงศ์ชิง

 

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 

 

จีนพหุนิยม: เฉิงเต๋อและราชวงศ์ชิง

 

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยชิงฮว๋าไปร่วมสัมนาใหญ่เกี่ยวกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก ( world area studies) มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาคนก่อน และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงคนปัจจุบัน ล้วนเรียนมาจากชิงฮว๋า สถาบันอุดมศึกษาระดับนำของจีนไม่ว่าปักกิ่ง ชิงฮว๋า ซึ่งอยู่เมืองหลวง และมหาวิทยาลัยฟูต้าน ซึ่งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ในขณะนี้ทุ่มเทสร้างตนให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจการเมืองของโลก และการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคต่างๆทุกทวีป   จีนนั้นไม่ได้เน้นแต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากยังสนใจยิ่งด้านสังคมศาสตร์  สนใจโลก และความเป็นไปของประเทศอื่นๆ

 

เสร็จงานสัมนามีเวลาสองวัน ผมและคณะจากไทย จึงขึ้นเหนือกรุงปักกิ่งไปอีก พ้นเขตกำแพงเมืองจีนไม่นาน ก็ถึงเมืองเฉิงเต๋อ นั่งรถ 80 กม ต่อ ชั่วโมง สามชั่วโมงก็ถึง เฉิงเต๋อเป็นเมืองเล็กๆในอดีต ปัจจุบันอยู่ในระดับกลางๆ เป็นที่ตั้งพระราชวังเขตภูเขาที่ใกล้ปักกิ่ง สวยงาม อยู่บนเขา และเรียงล้อมด้วยภูเขาเป็นทิวเป็นเทือก มีต้นไม้ใหญ่รวมทั้งต้นสนสูงเท่าตึกสี่ห้าชั้นมากมาย

จีนพหุนิยม: เฉิงเต๋อและราชวงศ์ชิง

เทียบกับ”วังต้องห้าม” หรือพระราชวังหลวงในกรุงปักกิ่งแล้ว วังนี้ เรียกชื่อในภาษาจีนว่า “ปี้สู่ซานจวง” นั้นใหญ่กว่าอีก ครับ หกเจ็ดเท่า เห็นจะได้ เต็มไปด้วยสีเขียว ร่มรื่น น่าพักน่าอยู่ และน่าหย่อนใจ หากเทียบกับพระราชวังฤดูร้อน “อี้เหอหยวน” แม้จะไม่อลังการและวิจิตรพิศดารเท่า แต่ก็ถูกจัดวางอยู่ในธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติ ร่มรื่นกว่า อาคารล้วนบังแดดหลบแดดอย่างดี ทั้งยังไม่ไกลจากทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ที่จักรพรรดิจะทรงออกไปล่าสัตว์หรือทรงม้า สำราญพระวรกายได้ 

 

ผมเคยไปทั้งสามพระราชวังดังกล่าวแล้ว เห็นพ้องว่า วังที่เฉิงเต๋อ นั้น น่าอยู่ที่สุด จักรพรรดิ์คังซี ผู้ครองราชย์ถึงหกสิบปี เป็นผู้สร้างพระราชวังที่นี่ และทรงให้สร้างวัดพุทธนิกายลามะที่อลังการถึงแปดวัดอยู่รอบๆ พระราชวัง รวมถึงจำลอง “โปตาลา” ของทิเบตมาไว้ที่นี่ด้วย ยิ่งใหญ่จริงๆครับ และสวยแบบเรียบง่าย ได้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกด้วย เที่ยวเล่นเที่ยวชมแล้วรู้สึกเย็นใจจริงๆ

จีนพหุนิยม: เฉิงเต๋อและราชวงศ์ชิง

 

ราชวงศ์ชิงปกครองจีนตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ร่วม 300 ปี ตรงกับปลายอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ของเรา ส่วนราชวงศ์จีนที่ตรงกับเรายุคสุโขทัยก็คือราชวงศ์หยวนของชนเผ่ามองโกล ที่ปกครองจีนราว 100 ปี ส่วนที่อยู่ตรงกับอยุธยาในช่วงต้นถึงช่วงกลาง คือ ราชวงศ์หมิง  ซึ่งปกครองจีนอยู่ 300 ปี โดยประมาณนั้น ราชวงศ์นี้เป็นคนของชนกลุ่มใหญ่ คือ จีนฮั่น  แต่แล้วราชวงศ์หมิงนั้นก็กลับมาเสียเมืองให้กับราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชนเผ่าแมนจู อยู่นอกกำแพงเมืองจีนอีก

 

ดูเอาเถิด จีน ที่ยิ่งใหญ่กว่าเราโข ยังตกเป็นของต่างชาติ คือมองโกลและแมนจู รวมแล้วสี่ร้อยปี  จะไม่ให้เราภาคภูมิใจเลยหรือว่าสยาม-ไทยนั้น จะดีชั่ว ก็รักษาเอกราชได้เกือบตลอดเจ็ดศตวรรษที่มีมา แน่นอน ครับ เราตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าสองครั้ง แต่รวมแล้วก็ราว 15 ปี เท่านั้น และ พม่านั้นก็ไม่ได้มาปกครองเราโดยตรง

 

ราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชนนอกกำแพงเมืองจีนมาก่อน ได้สร้างทางสายไหมทางบกให้กลับขึ้นมาและรุ่งเรืองกว่าในอดีตเสียอีก แผ่ปกไปถึงซินเกียง และลงใต้มายึดยูนนานไปเป็นของจีนได้ ตั้งแต่นั้นมายูนนานก็ตกเป็นแผ่นดินจีนอย่างเหนียวแน่น แต่ในยุคที่บรรพชนไท-ไต-ลาว ยังอยู่ในแถบนั้นและเริ่มอพยพจากที่นั่นลงใต้ หรือ ลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ เข้ามาสู่แดนสุวรรณภูมินั้น ในตอนนั้นยูนนานยังไม่เป็นดินแดนของจีนครับ เวลาเราพูดกันสั้นๆรวบๆ มักพูดว่าคนไทยอพยพมาจากตอนใต้ของจีน อันที่จริงแล้วคลาดเคลื่อนครับที่พูดเช่นนั้น เพราะในตอนเราเคลื่อนลงมา อพยพลงมา ทะยอยมานั้น ดินแดนแถบนั้น ถิ่นเก่าของเรายังเป็นอิสระจากจีน

 

ราชวงศ์ชิงนั้น ย้ำอีกที เดิมมาจากนอกกำแพงจีนเช่นกัน แต่ก็สร้างประโยชน์ให้จีนมหาศาล  ไม่น้อยไปกว่าราชวงศ์หยวน ที่สำคัญ ในสมัยนี้เองที่แผ่นดินจีนแผ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์  คือได้มองโกเลียใน ได้มองโกเลียนอก ได้ทิเบต ได้ซินเกียง และยังนำเอาดินแดนแมนจูเดิมนั้นผนวกเข้ามากับจีน กลายเป็นสามมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ