กรุงไทยตั้งสำรองเพิ่ม ฉุดกำไรโต 6%

19 ก.ค. 2562 | 07:08 น.

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2562  ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ส่วนที่เป็นของธนาคาร จำนวน  8,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 3.24% จาก 3.10% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของต้นทุนทางการเงินครึ่งแรกของปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 15,471ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 63,635 ล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 2 จากสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.4% จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองในไตรมาสแรกของปี NIM ที่ไม่รวมรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองดังกล่าว เป็น3.24% ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.09%  รายได้จากการดำเนินการอื่นๆ เติบโต5.5% จากการขายทรัพย์สินรอการขายและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน 

ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2.3% โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากการยกเว้น ค่าธรรมเนียมการโอนเงินรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัลและค่าธรรมเนียม Bancassurance ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายการดำเนิน งานเพิ่มขึ้น15.7% จากสำรองการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามเกณฑ์ระยะเวลาการถือครองของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เท่ากับ 46.76% เพิ่มขึ้นจาก 43.64% ในช่วงเดียวกันของปี 2561

นายผยง  กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามหลักความระมัดระวัง ธนาคารทยอยเพิ่มระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio)  ณ 30 มิถุนายน 2562 เป็น 132.83% (งบการเงินรวม) เพิ่มขึ้นจาก 125.74% ณ 31 ธันวาคม 2561 มี NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 4.68% และมี NPLs Ratio-Net อยู่ที่ 1.93% ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง เท่ากับ 14.34% และ  18.14 %ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

อนึ่ง ธนาคารได้ร่วมทุนกับบมจ.บัตรกรุงไทย จัดตั้ง บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด และ บริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) จำกัด เพื่อขยายการให้บริการสินเชื่อรายย่อย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยต่อหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง