บาทอ่อน บาทแข็ง ใครได้ ใครเสีย

20 ก.ค. 2562 | 07:05 น.

 

เงินบาทอ่อน หรือ แข็ง ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการอีกต่อไป เพราะวันก่อนแวะเติมนํ้ามัน ยังได้ยินเด็กปั๊มพูดถึงผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าด้วยว่า ได้เงินบาทน้อยลง นั่นก็เพราะเขาเป็นคนพม่า ซึ่งเมื่อนำเงินจ๊าตมาแลกเป็นเงินบาท ย่อมได้เงินบาทน้อยลงกว่าเดิม เลยรู้สึกว่า ได้รับผลกระทบตรงๆ ซึ่งก็พอๆ กับนักท่องเที่ยวจีน ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบ่นกันหนาหูว่า หายไปเยอะ นั่นก็เพราะว่า แต่ก่อนนำ 1 หยวนมาแลกเป็นบาท อาจจะได้ 5 บาทกว่าๆ แต่ปัจจุบันอาจได้แต่ 4 บาทกว่าเท่านั้น 

บาทอ่อน บาทแข็ง ใครได้ ใครเสีย

ถามว่า เมื่อเงินบาทอ่อนหรือแข็ง ใครบ้างที่ได้ประโยชน์และมีใครบ้างที่เสียประโยชน์ 

เริ่มที่ประเด็นร้อน กรณีบาทแข็ง หมายถึง เราใช้เงินบาทน้อยลง เมื่อแลกเป็นสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม จึงทำให้ผู้นำเข้า มีต้นทุนในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถูกลง ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศถูกลง จึงเห็นประเด็นการหิ้วของนอกเข้ามาและถูกเรียกเก็บภาษีนั่นแหละ ผู้ลงทุนซื้อสินค้าพวกเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ได้ถูกลงเช่นกัน และโดยเฉพาะใครที่มีหนี้ที่เป็นสกุลต่างประเทศ จะมีภาระหนี้น้อยลง อาจอาศัยจังหวะนี้คืนหนี้เร็วขึ้นก็ได้

แล้วใครล่ะที่เสียประโยชน์ ผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพราะจะแลกเป็นบาทได้น้อยลง คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นบาทน้อยลง และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลงเช่นกัน 

ในทางกลับกันถ้าบาทอ่อน เราต้องใช้เงินบาทมากขึ้น ถ้าต้องการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม จึงทำให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นเงินต่างประเทศจะแลกเป็นบาทได้มากขึ้น คนทำงานต่างประเทศ ที่มีรายได้เป็นเงินสกุลอื่นมาแลกเป็นบาทได้มากขึ้นและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่นำรายได้มาแลกจะได้เงินบาทมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้า ประชาชน ผู้ลงทุน และผู้ที่มีหนี้กับต่างประเทศ จะเป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์ เพราะจะมีต้นทุนนำเข้าสินค้า หรือจากการซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

บาทอ่อน บาทแข็ง ใครได้ ใครเสีย