กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

17 ก.ค. 2562 | 08:50 น.

อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการให้เร่งช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนตกน้อยจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ กำชับโครงการชลประทานทุกแห่งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด พร้อมรณรงค์ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด

 

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติในหลายพื้นที่ นั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวโน้มหรือกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ อาทิ เจ้าหน้าที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา-ท่าโบสถ์ ได้ลงพื้นที่ไปติดตามการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณด้านท้ายของคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง(คลอง ม.-อ.) ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

โดยการสูบน้ำจากลำห้วยโตนดและคลองระบาย 3ขวา - 1ขวา (บึงกระจับ) ลงสู่คลองมะขามเฒ่า-กระเสียว(คลองม.-ก.) พร้อมกับสูบน้ำจากปลายคลอง ม.-ก.(ก.ม.47+290)ลงสู่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ส่งไปช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จากส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 12

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานทั้งประเทศ วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปีไว้รวม 16.21 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 10.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปี รวม 7.65 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกไปแล้ว 6.06 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผน  จากสภาวะฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติ คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำปิงที่สถานี P.17 อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

เช่นเดียวกับลุ่มน้ำน่านที่สถานี N.67 อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทานจะส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนแต่ละพื้นที่ รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่านและแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำพร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่ต้องการทันที

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีอ่างฯที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 18 แห่ง ดังนี้ อ่างฯที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 25 ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล  เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนมูลบน ส่วนอ่างฯที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 13 ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนทับเสลา และเขื่อนขุนด่านปราการชล ส่วนเขื่อนอื่นๆ คือ เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 29 เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 5

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 22  เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 14 เขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 20 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 5 เขื่อนกระเสียว มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 10 เขื่อนคลองสียัดมีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 6 เขื่อนนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 16 และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาตรน้ำต่ำกว่าปริมาตรน้ำต่ำสุด 8 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลฯเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง

“มาตรการสำคัญที่สุดขณะนี้ คือ ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ลงพื้นที่เร่งทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด” ดร.ทองเปลวฯ กล่าวในที่สุด