กองทุนนอกงบ ทำรัฐหลังแอ่น

19 ก.ค. 2562 | 06:25 น.

สำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำรายงานสถานะประเทศสรุปภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ปี 2557-2562 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยอีก 2 ไตรมาสที่เหลือในปี 2562 จะอยู่ที่ 3.3-3.8%

ด้านงบประมาณ อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2562 จัดทำงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท ส่วนงบประมาณ 2563-2565 ประมาณการว่าจะมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายเท่ากับ 3.2 ล้านล้านบาท 3.3 ล้านล้านบาท และ 3.470 ล้านล้านบาท ตามลําดับ โดยมีสมมติฐานที่สําคัญ เช่น สัดส่วน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2-3.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชําระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5 - 3.5% ของวงเงินงบประมาณ แต่ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มขึ้น

ในปีงบประมาณ 2563- 2565 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 4.5 แสนล้านบาท 5.27 แสนล้านบาท และ 5.84 แสนล้านบาท หรือ2.4% 2.7% และ 2.8% ต่อ GDP ตาม ลําดับ

กองทุนนอกงบ  ทำรัฐหลังแอ่น

ขณะเดียวกันยังได้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สําหรับปีงบประมาณ 2563 เท่ากับ 44.4% ปี 2564 ที่ระดับ 45.7% และปี 2565 อยู่ที่ 47.4% ตามลําดับ

ส่วนประเด็นความเสี่ยงทางการคลัง สถานะทางการคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เงินคงคลังปลายปี 2561 มีจํานวนทั้งสิ้น 633,436 ล้านบาท และสัดส่วนหนี้สาธารณะคิดเป็น 42% ของ GDP ยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กําหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 50% 

ขณะที่กองทุนนอกงบประมาณในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กองทุนนอกงบประมาณทั้งสิ้น 224,729 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบและเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนประกันสังคม จํานวนทั้งสิ้น 95,989 ล้านบาท

ภาครัฐวิสาหกิจฯ พบว่า ภาพรวมยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ผลการดําเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้น ในสาขาสื่อสาร และอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยภาครัฐวิสาหกิจฯ อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังคงมีภาระทางการคลังจากการรับภาระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจฯ ที่มีผลการดําเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง เป็นภาระแบบชัดเจนโดยตรง 218,405 ล้านบาท

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล จํานวน 253,792 ล้านบาท และรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ จํานวน 130,094 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ที่ อปท. สามารถเก็บได้เองอยู่ที่เพียง 10.4% ของรายได้รวม แสดงให้เห็นว่า อปท. ยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้น อปท.จึงควรเพิ่มประสิทธิ ภาพการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่อปท.เก็บเอง เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากรัฐบาลลง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,488 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กองทุนนอกงบ  ทำรัฐหลังแอ่น