ปัดฝุ่นเจรจาเอฟทีเอ ภารกิจเร่งด่วนประยุทธ์ 2

17 ก.ค. 2562 | 05:01 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3488 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค.2562

 

ปัดฝุ่นเจรจาเอฟทีเอ

ภารกิจเร่งด่วนประยุทธ์ 2

                  ภายหลังจากครม.ชุดใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว จากนี้จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยครม.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเดินหน้าในการบริหารประเทศอย่างรวดเร็วทันที ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่รุมล้อม โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่สถานการณ์อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถรอได้

                  ครม.รัฐบาลผสมหลายพรรค ทีมเศรษฐกิจกระจัดกระจายอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งคมนาคม เกษตรฯ พาณิชย์ ซึ่งแต่ละพรรคมีรองนายกฯ พ่วงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการไว้คอยกำกับดูแลงานในกระทรวงที่พรรคตนดูแล จึงไม่มีระดับรองนายกฯที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่างแท้จริงในการสั่งการ ฉะนั้นตัวนายกรัฐมนตรีเองต้องลงมาบูรณาการเพื่อให้การกำกับ สั่งการ ลื่นไหล ไม่ติดขัด ประสานให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพในการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

                  ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญประการหนึ่งมาจากแรงกดดันภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่สะเทือนการค้าไปทั่วโลก รวมทั้งไทยส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวลงจากปีก่อนและประมาณทั้งปีจากภาคเอกชนให้ตัวเลขติดลบจากปีก่อนไปแล้ว แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่ยํ่าแย่ ส่วนหนึ่งจะมีผลมาจากปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่น จนสื่อต่างประเทศยกให้ค่าเงินบาทไทยแข็งที่สุดในปฐพีไปแล้ว แต่ค่าเงินอาจไม่ใช่อุปสรรคเดียวที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวลง

                  การเจรจาการค้ากับคู่ค้าในกรอบต่างๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับการส่งออก หรือ เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยแข่งขันกับคู่แข่งเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยเช่นเดียวกัน ต้องยอมรับว่าในช่วง 5 ปี รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นการเจรจาทวิภาคีอย่างเป็นทางการถูกละเลยจากคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปมาโดยตลอด ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสและสถานะการแข่งขันให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนลํ้าหน้าไทยไปแล้วในหลายๆ ด้าน

                  รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้งในรอบนี้ จำเป็นต้องพิจารณาความตกลงการเจรจาเขตการค้าเสรีเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯไทย-สหภาพยุโรป กระทั่งการเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือทรานส์แปซิฟิกหรือทีพีพี โดยเร็ว แต่ต้องฟังเสียงเอกชน ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน พร้อมกับนำผลการศึกษาที่ดำเนินการไว้แล้วมาปัดฝุ่น ปรับใช้ให้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สำคัญภายใต้การดำเนินการทุกขั้นตอนต้องมีความโปร่งใส