ทรัมป์ว่าไง? อังกฤษไม่ว่า…ถ้าเฟซบุ๊คจะออกเงิน“ลิบร้า”

16 ก.ค. 2562 | 07:24 น.

นายฟิลลิป แฮมมอนด์ รัฐนตรีคลัง ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่เฟซบุ๊ค ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียของสหรัฐอเมริกา ประกาศจะออกสกุลเงินดิจิตอลในชื่อสกุล ลิบร้า (Libra) มาใช้ในปีหน้าพร้อมประกาศจับมือพันธมิตรและจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับการใช้สกุลเงินดังกล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษจะไม่พยายามสกัดกั้นหรือขัดขวางโครงการนี้ ในทางตรงข้าม อังกฤษพร้อมเปิดรับการใช้สกุลเงินลิบร้า  ส่วนเรื่องที่ว่าเฟซบุ๊คจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารก่อนที่จะเดินหน้าออกสกุลเงินดิจิตอลมาใช้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมือง

ฟิลลิป แฮมมอนด์ รัฐนตรีคลังอังกฤษ

การออกมาให้ความเห็นของนายแฮมมอนด์เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันไปในทิศทางตรงข้าม โดยผู้นำสหรัฐฯได้โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุถึงเงินดิจิตอลสกุลต่างๆ รวมถึงบิตคอยน์ และลิบร้า ว่า ตนไม่ใช่แฟนบิตคอยน์ และเงินคริปโตอื่นๆ เพราะ มันไม่ใช่เงิน และมูลค่าของมันก็ผันผวนมากบนพื้นฐานที่เบาโหวงเหมือนอากาศบางๆ ผู้นำสหรัฐฯ มีความเห็นว่า เงินคริปโตที่ไม่ได้ถูกควบคุม จะนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด และอื่นๆอีกมาก

"ไปขอใบอนุญาตมาซะก่อน"

ในส่วนของเงิน ลิบร้า ก็เช่นกัน ทรัมป์ระบุว่า เงินลิบร้าจะไม่มั่นคง ถ้าเฟซบุ๊กอยากทำธุรกิจธนาคาร ก็ให้มาต่อคิวขอใบอนุญาต(ใบอนุญาตดำเนินกิจการธนาคาร)  และต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ (ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด)  ทรัมป์ย้ำว่า สหรัฐฯฯมีเงินแค่รูปแบบเดียวและมั่นคงที่สุด นั่นคือ ดอลลาร์สหรัฐฯ


 

 

  ทรัมป์ว่าไง? อังกฤษไม่ว่า…ถ้าเฟซบุ๊คจะออกเงิน“ลิบร้า”

ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้มีถ้อยแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า  เฟดกำลังจับตามองการเปิดตัวเงินลิบร้า เนื่องจากเป็นโครงการที่เฟดยังไม่สามารถให้พัฒนาต่อไปได้จนกว่าทางผู้พัฒนาโครงการจะสามารถตอบข้อสงสัยต่างๆได้ โดยเฉพาะในประเด็นการป้องกันปัญหาการฟอกเงิน การปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และปัญหาอื่นๆ ที่ผู้พัฒนาจะต้องแก้ไขและป้องกันมาแล้วอย่างรอบคอบ

 

สัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาสหรัฐฯ มีกำหนดตรวจสอบแผนนำเสนอโครงการเปิดตัวสกุลเงินลิบร้าของเฟซบุ๊คและพิจารณาถึงผลกระทบของโครงการนี้ที่อาจมีต่อผู้บริโภค ผู้ลงทุน และระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา

 

ในการแถลงข่าวเปิดตัวของเฟซบุ๊คนั้น บริษัทระบุเป้าหมายการออกสกุลเงินดิจิทัลว่าเพื่อให้เป็นทางออกสำหรับประชากรนับล้านคนบนโลกที่ไม่มีช่องทางเข้าถึงบริการทางการเงินซึ่งเป็นช่องทางปกติทั่วไป ขณะเดียวกันนี่ก็อาจเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเฟซบุ๊ค ในฐานะคู่แข่งอีกรายของตลาดบริการชำระเงินที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์


 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัฐมนตรีคลังอังกฤษที่ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะที่ทรัมป์เห็นว่า เฟซบุ๊คต้องไปขอใบอนุญาตประกอบการธนาคารมาก่อนจึงจะสามารถออกเงินดิจิทัล แต่นายแฮมมอนด์เห็นว่า การจะต้องมีหรือไม่มีใบอนุญาตเป็นเรื่องของหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่ใช่การตัดสินใจของนักการเมืองในสภาฯ

 

อังกฤษมีหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระ และรัฐบาลอังกฤษก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเปิดรับแนวคิดสกุลเงินลิบร้า เพราะถ้าหากว่ามีการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม มันก็จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก นายแฮมมอนด์กล่าว และระบุเพิ่มเติมว่า  อังกฤษจะไม่หันหลังหรือปฏิเสธสกุลเงินดิจิทัล และจะไม่พยายามหยุดยั้งมันด้วย แต่จะเปิดรับและแสวงหาความร่วมมือเพื่อจะสร้างความมั่นใจว่ามีการควบคุมดูแลบริการเกี่ยวกับสกุลเงิน

 

ดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

สิ่งที่อังกฤษเห็นว่าเป็นความเสี่ยงอยู่ ก็คือโครงการนี้ของเฟซบุ๊คหากไม่มีการตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบก่อน หรือไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งยวดต่อระบบการเงิน เพราะด้วยช่องทางใหม่นี้ อาจถูกนักฟอกเงินหรือขบวนการก่อการร้าย นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำทุจริต นอกจากนี้ นายแฮมมอนด์ยังมองว่า ลิบร้า มีความแตกต่างจาก บิตคอยน์ ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเงินทั้งสองสกุลนี้มีโครงสร้างผู้เป็นเจ้าของที่แตกต่างกันมาก