Big Data เข้าใจ ง้าย ง่าย(1)

17 ก.ค. 2562 | 05:47 น.

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่สนใจในหัวข้อที่ผมยกมาในข้างต้น บทความนี้ต้องการที่จะอธิบายและสรุปสาระสำคัญของ Big Data ขั้นพื้นฐาน ให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในศาสตร์และศิลป์ ของการใช้ Big Data ในภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ในบทความนี้ผมจะไม่อิงทฤษฎี หรือตำรา หากมีข้อบกพร่องประการใดก็ขออภัยไว้ก่อนนะครับ

ในช่วง 2-3 ปีมานี้คำว่า “Big Data” เป็นคำท็อปฮิตแบบสุดๆ ในทุกวงการ ณ ขณะนี้ ใครๆ ก็อยากใช้ Big Data ใครไม่ใช้ ไม่รู้เรื่อง เชยแบบสุดๆ แต่ในความเป็นจริงในวงสนทนา คนที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจอย่างถ่องแท้มีค่อนข้างน้อย ตามสัญญาที่กล่าวในย่อหน้าแรก หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว อย่างน้อยๆ ก็สามารถเอาไปคุยได้โดยไม่อายใคร

เรามาเริ่มจาก basic Big Data 101 ก่อนนะครับ คำว่า “Big Data” คือ ... ให้เวลา 3 วินาทีในการคิดคำตอบนะครับ ตาม definition แบบง่ายๆ มันแปลตรงตัวตาม Dictionary เลยครับ Big = ใหญ่ และ Data = ข้อมูล เมื่อนำมารวมกันก็คือ ฐานข้อมูลที่มันใหญ่มาก อะไรก็ตามที่เป็นข้อมูล สากกะเบือ ยันเรือรบ ตั้งแต่ ชื่อ-นามสกุล, ชื่อเล่น, วันเกิด, ความชอบ, มีลูกกี่คน, ชอบไปที่ไหนบ้าง โดยสรุป คือ ข้อมูลทุกอย่างที่สามารถลงบันทึกในฐานข้อมูลนั่นเองครับ จริงๆแล้ว Big Data มันมีมานานมากแล้วครับ ก็ตั้งแต่อดีตที่มนุษยชาติได้มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเพื่อบันทึกสิ่งต่างๆ แล้วตกทอดมาเรื่อยๆ นั่นเอง

ตัวอย่างของการใช้ Big Data แบบดั้งเดิมและยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และฮิตมากๆ คาดว่าทุกท่านต้องเคยใช้มาแล้วอย่างแน่นอน นั่นก็คือ การดูดวงครับ หลายท่านอาจสงสัยว่า เอ้ยดูดวงเนี่ยนะ ใช่แล้วครับนั่นคือ Big Data ก็ตามที่แจ้งมาตั้งแต่แรก เราจะอธิบายแบบไม่อิงทฤษฎีหรือตำรานะครับ หากท่านผู้อ่านท่านใดรู้สึกขัดใจ ก็สามารถข้ามบทความนี้ไปได้นะครับ ขออธิบายต่อนะครับ การดูดวงทำไมถึงเป็นการใช้ Big Data ตามประวัติศาสตร์การดูดวงของโลกนี้มีการนำไปใช้ แบ่งเป็นขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอน ดังนี้ครับ

1. Big Data ฐานข้อมูลระดับ Big คือ ชื่อ-นามสกุล, วัน-เดือน-ปี-เวลาเกิด, สถานที่, ตำแหน่งของดวงดาว, event หรือเหตุการณ์ในชีวิต ของคนหลายหมื่น หลายแสน อาจจะหลายล้านคน โดยบันทึกมาเป็นเวลาหลายพัน หลายหมื่นปี มาถึงตรงนี้ data ฐานข้อมูลต้องใหญ่มากๆ และเป็น Big Data ชุดแรกของโลกนี้

Big Data เข้าใจ ง้าย ง่าย(1)

2. Analyze ข้อมูล นั่นก็คือ โหราจารย์ หรือ เจ้าลัทธิต่างๆ นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดหมวดหมู่ จัดกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงกัน และสรุปมาให้เป็นแนวทางให้กับ อนุชนรุ่นหลังได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว คนที่เกิดในแต่ละช่วงเวลา มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ดีหรือร้ายประการใด ภาษาที่เขาเรียกกันสมัยนี้แบบหรูๆ ก็คือ การทำ Factor Analysis, Segmentation หรือ Persona นั่นเองครับ

Big Data เข้าใจ ง้าย ง่าย(1)

3. อันนี้ขั้นสุดยอด คือ การทำนายนั่นเอง โดยหลักการแบบง่ายๆ คือ โหราจารย์ หรือหมอดู ก็นำ ชื่อ-นามสกุล และข้อมูลต่างๆ ของเรามาเทียบเคียงกับตำราที่โหราจารย์ได้ทำการสรุปและแบ่งกลุ่มไว้แล้ว หลักๆคือ การจับคู่ ข้อมูลต่างๆ ซึ่งสมัยนี้เราเรียกว่า factor มาจับคู่กับ ฐานข้อมูลที่สรุปไว้แล้ว และต่อมาก็อ่านให้ฟัง หรือทำนายนั่นแหละครับ วิธีการทั่วไปคือ ต้องเช็กก่อนล่ะครับว่าถูกต้องหรือไม่ โดยการทำนายอดีตของเรา หมอดูจะเล่ามาก่อนแหละครับว่า พื้นดวงเป็นอย่างไรเพื่อเป็นการเช็กความถูกต้องก่อนทำนายอนาคตครับ ตามหลักสถิติ ถ้าเกิน 60% ถือว่าแม่นครับ หลังจากนั่นก็ ทำนายอนาคตแบบ solo ยาวๆ ครับ 

อ่านต่อฉบับหน้า

คอลัมน์ : ภิชา ศิลานุวัฒน์ Data & Analytics Associate Director, IPG Mediabrands

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3488 ระหว่างวันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562