ททท.ลุย 7 กลยุทธ์ บูมไทยเที่ยวไทย มุ่งเป้าโต10%

17 ก.ค. 2562 | 23:40 น.

 

รายได้จากไทยเที่ยวไทย เป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญ ในการปั๊มรายได้ท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งภายใต้เป้าหมาย 3.71 ล้านล้านบาทในปี 2563 เติบโต 10% ในจำนวนนี้เป็นรายได้ จากการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทยกว่า 1.28 ล้านล้านบาท ททท.จะมีทิศทางขับเคลื่อนตลาดนี้อย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่า การด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ดันรายได้ปีหน้า1.28ล้านล.

การขยายตัวของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ในแง่ของรายได้จะเติบโตเฉลี่ย 8% สร้างรายได้ราว 5.61 แสนล้านบาท จากจำนวนการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย 77.5 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 5% ดังนั้นเมื่อดูสถานการณ์แล้วจนถึงสิ้นปีนี้ก็คาดว่าการเติบโตของรายได้จะอยู่ที่ 9% นิดๆ จากเป้าหมายที่คาดว่าจะโต 10% ซึ่งททท.ก็ถือพอใจระดับหนึ่ง ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้านที่เข้ามาแทรกแซงทั้งเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคเหนือเมื่อช่วงต้นปี

ส่วนในปีหน้าททท.วางเป้าหมายผลักดันการเพิ่มรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโต 10% คือสร้างรายได้อยู่ที่ 1.28 ล้านล้านบาท ภายใต้แคมเปญ amazing ไทยเท่ Working Concept “เมืองไทย สวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์ที่เน้นโปรโมตภาพรวม ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุและกลุ่มความสนใจ หรือข้ามกลุ่มลูกค้า กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคนไทยมีความสนุก ความสุข ภูมิใจในการออกแบบการท่องเที่ยวของตัวเอง และส่งต่อวิธีเที่ยวของตนให้กับผู้อื่นให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบ การท่องเที่ยวในสไตล์ของตนเอง

เพิ่มเที่ยววันธรรมดา30%

กลยุทธ์การขับเคลื่อนตลาดในประเทศ จะเน้น 7 เรื่องหลัก โดยจะดำเนินการ Re-Event For More เรื่องแรก คือ การเพิ่มสัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา ที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 14% ให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปีหน้า ภายใต้โครงการ Take a Break ซึ่งเป็นแคมเปญที่ททท.ได้ร่วมมือกับพันธมิตรท่องเที่ยว ในการโปรโมตและมอบดีลส่วน ลด สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนทำงานลาพักท่องเที่ยว ที่ในปีหน้าจะขยายผลให้โตขึ้น ปรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเอาติ้ง ให้เดินทางมาจัดกิจกรรมในวันธรรมดา

เรื่องที่ 2 คือ การมุ่งสร้างความสมดุล กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงกรีนซีซัน เรื่องที่ 3 จะเน้นสร้างจุดเด่นเมืองรอง โดยเน้นขายความแตกต่าง ด้วยการสร้างคอนเทนต์ให้เกิดการขายการท่องเที่ยวใน 60 เส้นทางความสุขทั่วประเทศ โดยจะเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวหลักและรอง ไปจนถึงชุมชนที่มีความพร้อมในการรองรับ เพื่อสร้างความสมดุลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้ง 77 จังหวัด

 

ททท.ลุย 7 กลยุทธ์  บูมไทยเที่ยวไทย มุ่งเป้าโต10%

นพดล ภาคพรต

เรื่องที่ 4 มุ่งสร้างกระแสเรื่องของการกิน ที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวของอาหาร เพื่อดันการใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นอีก 10% เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายสูงสุดในการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย มีมูลค่าการใช้จ่ายด้านอาหารในชุมชน 1.7 พันล้านบาท

 

 

ดึงเที่ยวนอกควบเที่ยวในปท.

เรื่องที่ 5 จะกระตุ้นให้กลุ่มคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ มองการเดินทางเที่ยวในประเทศควบคู่กันไปด้วย โดยททท.จะสร้างกระแสนิยมเมืองไทยสวยกว่าไหนๆนำ เสนอความสวยงามในมุมมองที่แตกต่างมาแนะนำว่าที่ไหนควรต้องไป เพราะคนกลุ่มนี้อยากได้ความเป็นยูนิกของตัวเอง

เราไม่ได้ต้องการเบรกให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะในด้านทางปฏิบัติ เมื่อสายการบินโดยเฉพาะชาร์เตอร์ไฟลต์ นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ขากลับเขาก็ต้องมีผู้โดยสารขาออกบ้าง คนไทยก็จะไปช่วยในส่วนนี้ เพียงแต่ช่วงนี้บาทแข็งคนก็อาจไปเที่ยวมากกว่าเดิม แต่ถ้าไม่มีคนไทยเดินทางออกไปบ้าง สายการบินเมื่ออยู่ไม่ได้ ก็ไม่ทำ การบิน ก็จะทำให้กระทบต่อการเดินทางมาเที่ยวไทยของต่างชาติ

ดังนั้นสิ่งที่ททท.ต้องการคือกระตุ้นให้คนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ มองการเที่ยวใน ประเทศควบคู่กันไปด้วย เพราะจากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงและเลือกเที่ยวต่างประเทศ เป็นเพราะไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหนในไทย เราก็ต้องไปสร้างกระแส นิยมให้เขาเที่ยวในประเทศ

 

ททท.ลุย 7 กลยุทธ์  บูมไทยเที่ยวไทย มุ่งเป้าโต10%

 

เรื่องที่ 6 จะนำเรื่องราวของประเพณีไทย ความเชื่อทางศาสนา มาปลุกกระแสให้เกิดการเดินทาง และสุดท้ายเป็นการสร้างค่านิยมปลุกจิตสำนึกเมืองไทยสวยด้วย 2 มือทำให้คนไทยมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นงดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

 

 

ชู 60 ปี Go Green

การนำเสนอกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการ อาทิ โครงการอันดามัน Go Green หรือโครงการไซเคอร์ริ่งระยอง ที่เป็นการเก็บขยะในทะเล หรือโครงการที่จะทำในป่ามรดกโลก .อุทัยธานี ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำเป็นโครงการนำร่องกระตุ้นให้คนไปเที่ยวแบบมีจิตสำนึกการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ซึ่งก็จะเป็นการทำซีเอสอาร์ ที่ตอบโจทย์การครบรอบ 60 ปีของททท.ในปีหน้า หรือ 60 ปี Go Green ที่ตอบโจทย์สำนักงาน ททท.ในประเทศทั้ง 45 แห่ง

นอกจากนี้ในปีหน้า จะมีวันหยุดยาวมาก โดยเฉพาะหยุดยาว 4 วันที่มีหลายช่วง ททท.ก็จะไปหาโปรดักต์ที่จะมานำเสนอให้ตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาด ครอบครัว ที่เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตในการเดินทางเที่ยวในประเทศสูงสุดโครงการ 60 เส้นทาง ความสุข @ เมืองไทย เดอะ ซีรีส์กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ภายใต้แรงบันดาลใจของ 3 ฤดูกาล ที่แตกต่าง เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นทิศทางการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3488 วันที่ 18-20 กรกฎาคม 2562

ททท.ลุย 7 กลยุทธ์  บูมไทยเที่ยวไทย มุ่งเป้าโต10%