งัดไอเดียเก๋ ชุบชีวิตของเหลือใช้ริมทะเล

20 ก.ค. 2562 | 03:00 น.

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับหลายๆ สิ่ง รวมไปถึงวัสดุเหลือใช้ หรือ ขยะ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และเมืองไทย ก็สามารถนำความคิดสร้างสรรค์มา Reuse เพิ่มมูลค่า ขยะหรือของเหลือใช้ที่แทบไม่มีค่าเลย ให้กลับมามีค่าได้อีกครั้ง และจากความเดือดร้อนของชุมชนประมงที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอปราณบุรี ตั้งอยู่บริเวณปากแม่นํ้าปราณบุรีที่ไหลลงสู่อ่าวไทย จากปริมาณ “ขยะ” หรือ “ของเหลือใช้” ที่ถูกวัดเข้ามาตกค้างบริเวณชายฝั่ง ทำให้ชุมชนต้องใช้ต้นทุนในการกำจัดจำนวนมหาศาล 

งัดไอเดียเก๋ ชุบชีวิตของเหลือใช้ริมทะเล

นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากโปรเจ็กต์ดีไซน์ ฟันด์ (Design Fundamental) ที่ สจล.จัดทำขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การออกแบบอย่างยั่งยืน เป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ ที่ผสมผสานระหว่างการมีจิตสาธารณะและการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ได้ถูกขยายผลมาสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงาน ที่นอกจากจะทำให้นักศึกษาได้ลงมือทำงานจริงในพื้นที่แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างไอเดียให้กับชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาและสร้างอาชีพต่อ 

นักศึกษาชั้นปีที่  1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ ในฐานะตัวแทนทีมผู้สร้างชิ้นงาน บอกว่า แนวคิดหลักในการดีไซน์ เกิดจากแหล่งที่ตั้งของชุมชนที่ติดริมทะเล และส่วนใหญ่ชาวบ้านทำอาชีพประมง ทีมทำงานจึงเลือกนำวัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพของชุมชนและมีต้นทุนในการกำจัดสูงอย่าง “อวน” เครื่องมือจับปลาที่ถักเป็นตาข่ายผืนยาว ที่ชำรุดจนไม่สามารถใช้งานในการจับปลาได้ หรือถ้าจะนำไปขายเป็นขยะ ก็ไม่ได้ราคา 

“อวน” ที่หมดสภาพแล้ว ได้ถูกนำมาผสมผสานกับการออกแบบเลเยอร์สู่โคมไฟ รูปแบบการดีไซน์ได้แรงบันดาลใจจากแมงกะพรุน ที่ให้ความรู้สึกถึงทะเล และสอดคล้องกับอาชีพประมง ประดิษฐ์ตกแต่งร่วมกับวัสดุที่สามารถหาได้ในชุมชน สร้างขึ้นมาเป็นชิ้นงาน 

งัดไอเดียเก๋ ชุบชีวิตของเหลือใช้ริมทะเล

อีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าสนใจ คือ “กระเป๋าถัก” จาก ไอเดียของนักศึกษาปี 1 เช่นกัน “ธัญชนก เกียรติโอภาส” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ ในฐานะตัวแทนทีม บอกว่า แนวคิดหลักในการดีไซน์ผลงานกระเป๋าถักมาจากอวนจับปลา ซึ่งทางทีมนำมาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง ถ่ายทอดวิถีชีวิตและอาชีพประมง โดยนำของเหลือใช้คือเศษถุงพลาสติกที่เก็บได้จากการลงพื้นที่ชุมชน มาเป็นส่วนประกอบหลัก ผนวกกับแนวคิดด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตเชือกจากถุงพลาสติก (PE) ผ่านกระบวนการออกแบบใหม่ (Re-design) มาถักและมัดเป็นกระเป๋า พร้อมใช้ตัวหนังแท้บุด้านในเพื่อความสวยงาม และไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

จุดเด่นของกระเป๋าถักจากเชือกถุงพลาสติก คือ วิธีการถักที่สวยงามและมีลูกเล่น โดยผู้ใช้จะไม่สามารถมองด้วยตาว่า ผลิตภัณฑ์ผลิตมาจากของเหลือใช้ในชุมชน ดีไซน์มีความทันสมัย นอกจากจะสามารถจุของได้แล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องประดับได้
อีกด้วย

ส่วนชิ้นงาน “กระถางอนุบาลต้นไม้”  จากตัวแทนทีมผู้สร้างสรรค์ “พิมพลอย ทรัพย์เจริญ” บอกว่า แนวคิดในการดีไซน์ เริ่มต้นจากความต้องการนำเศษวัสดุธรรมชาติเหลือใช้จากชุมชน ซึ่งได้เลือกกากมะพร้าว หนึ่งในของเหลือใช้จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ นํ้าหนักเบา
อุ้มนํ้า และเก็บความชื้นได้นาน เหมาะสำหรับนำมาผลิตเป็นกระถางต้นไม้ ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเอง เพื่อใช้ในการเพาะชำต้นไม้และสามารถนำกระถางลงดินได้เลย ผนวกกับแนวคิดด้านการออกแบบที่ได้เรียนรู้จากในคลาสเรียนเกี่ยวกับไบโอ -พลาสติก (Bio-plastic) หรือกระบวนการสร้างพลาสติกขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ นำมาสร้างเป็นกระถางอนุบาลต้นไม้ 

หัวใจหลักของการสร้างสรรค์งานดีไซน์เพื่อสังคม คือการพยายามออกแบบเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและสังคม โดยให้นักศึกษามองหาข้อดีจากสิ่งรอบตัว นำองค์ความรู้เกี่ยวกับงานดีไซน์เข้าไปเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ของชุมชน แทนที่จะต้องเสียต้นทุนในการกำจัด โดยผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านกระบวนการออกแบบ สจล. พยายามปลูกฝังแนวคิดการเป็นนักออกแบบรับใช้สังคม ประยุกต์ใช้ความรู้ ควบคู่นวัตกรรม สู่การ
เป็นนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในอนาคต

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,488 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

งัดไอเดียเก๋ ชุบชีวิตของเหลือใช้ริมทะเล