วาระร้อน รัฐบาลบิ๊กตู่

14 ก.ค. 2562 | 08:30 น.

ในขณะที่รัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” พยายามจะเร่งจัดทำนโยบายเร่งด่วนตามที่มีการหาเสียงไว้ และต้องการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่ยังมีวาระร้อนที่รัฐบาลชุดนี้ ต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหา โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่จะต้องเร่งจัดทำงบประมาณปี 2563 ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณ 4 หน่วยงาน

ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ เพื่อจะยืนยันว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายจะยังคงเหมือนเดิมตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ชุดก่อนอนุมัติไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ รายได้งบประมาณปี 2563 จะไม่ได้ตามเป้าหมาย ที่ 2.75 ล้านล้านบาทแล้ว

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีวาระร้อนที่จะต้องพิจารณา จากการกดดันของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ที่ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้กระทรวงพลังงาน ไปปรับแผนใหม่ เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกินกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด จากปัจจุบันมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเพียง 34.9%

อีกทั้ง กรณีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ให้สิทธิบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่น ที่อยู่ระหว่างรอลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.จะมีการสั่งให้เดินหน้าต่อไปหรือไม่

รวมถึงการพิจารณาจะยกเลิกการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี ของกฟผ.ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาผู้ชนะประมูล เนื่องจากปริมาณก๊าซยังเพียงพอ หากนำเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนแบกรับภาระกว่า 1 แสนล้านบาท วาระร้อน  รัฐบาลบิ๊กตู่

นอกจากนี้ การหาข้อยุติกรณีที่บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โททาล ของฝรั่งเศสได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อขอหารือในข้อกฎหมาย เกี่ยวข้องกับแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ที่จะต้องวางหลักประกันการรื้อถอนวงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ราย ไม่อยากจะจ่าย และขู่ที่จะยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ ให้เข้ามาพิจารณา

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยว่า อยากให้รัฐบาลเร่งคลอดโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(จำนำยุ้งฉาง)และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ปีการผลิต 2562/2563 โดยยังคงค่าเก็บเกี่ยวไว้ที่ไร่ละ 2,000 บาท แต่ค่าจำนำยุ้งฉางต้องปรับราคาขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกหอมมะลิต้องไม่ตํ่ากว่าตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้าไม่ตํ่ากว่า 1.1 หมื่นบาทต่อตัน เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐจะต้องเร่งคลอดออกมาเพื่อรับมือกับข้าวเปลือกเจ้าที่ผลผลิตจะเริ่มออกมามากตั้งแต่เดือนสิงหาคม เกรงราคาข้าวจะลดลง

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มนํ้ามันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากนโยบายพรรคพลังประชารัฐหาเสียงจะผลักดันราคาปาล์มนํ้ามันให้ได้ 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เชื่อว่าทำไม่ได้จริง ดังนั้นขอเสนอในสิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือผลักดันพ.ร.บ.ปาล์มนํ้ามัน พ.ศ. .... ให้แจ้งเกิด และติดมิเตอร์ไซโลโรงสกัดนํ้ามันปาล์มทั่วประเทศ และสร้างโครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาต้นทุนโรงสกัด /กรมการค้าภายใน/เกษตรกร รวม 3 ส่วนมาหารเฉลี่ยเพื่อให้ต้นทุนโรงสกัด 2.38 บาทต่อกิโลกรัมง่ายเกินไปหรือไม่ ขณะที่มาเลเซียต้นทุนโรงสกัดเพียง 1.20-1.30 บาทต่อ กิโลกรัมเท่านั้น

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มนํ้ามัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) กล่าวว่า ยังไม่เห็นวิธีการประกันรายได้ยางพาราที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องพิสูจน์ฝีมือใน 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เชื่อว่าจะเห็นม็อบขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญไม่เห็นด้วยที่จะนำภาษีของคนทั้งประเทศมาช่วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

วาระร้อน  รัฐบาลบิ๊กตู่