หม่อมเต่า ไหวมั้ย นักเศรษฐศาสตร์คุมแรงงาน

13 ก.ค. 2562 | 04:00 น.

พลิกโผเล็กน้อยสำหรับคณะรัฐมนตรี “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สมัยที่ 2 ที่มีการแต่งตั้งม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หม่อมเต่า” จากเดินที่มีการคาดหมายกันว่าร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตนายทหารสายบู๊จะเข้ามากำกับดูแลกระทรวงนี้

“หม่อมเต่า” ถือเป็นนักการเงินการคลังอันดับต้นๆของประเทศ ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พาประเทศผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันอายุ 76 ปี อดีตเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ คือประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงการคลัง

ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง “หม่อมเต่า” เกิดความขัดแย้งด้านนโยบายการคลังอย่างรุนแรงกับรัฐบาลในยุคพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  จนถูกคำสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจลาออกจากราชการทันที 

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธปท. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ในยุครัฐบาล “ชวน หลีกภัย” และถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ทบทวนนโยบายด้านดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ของ “หม่อมเต่า” ครั้งนี้มีภารกิจที่ท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านการเมืองและมิติด้านเศรษฐกิจ

มิติทางการเมืองหนีไม่พ้นที่ “หม่อมเต่า” ต้องเผชิญหน้ากับ “ปีกแรงงาน” ซีกพรรคอนาคตใหม่ อย่างน้อย 5 คน ประกอบด้วย วรรณวิภา ไม้สน-สุเทพ อู่อ้น-สมเกียรติ ไชยวิสิทธิกุล-ทวีศักดิ์ ทักษิณ และ จรัส คุ้มไข่นํ้า ซึ่งแต่ละคนถือว่าไม่ธรรมดาผ่านงานมวลชนด้านแรงงานมาอย่างโชกโชนทั้งสิ้น

หม่อมเต่า  ไหวมั้ย นักเศรษฐศาสตร์คุมแรงงาน

“วรรณวิภา ไม้สน” หรือ มด อดีตเลขาธิการสหภาพแรง งานไทรอัมพ์ และอดีตกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานอุตสาห กรรมสิ่งทอฯ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ประเด็นสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะการต่อสู้ของพนักงาน บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายนํ้ายี่ห้อไทรอัมพ์ ที่ถูกเลิกจ้างมาอย่างยาวนาน

“จรัส คุ้มไข่นํ้า” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี ผู้เอาชนะ “อิทธิพล คุณปลื้ม” ในการเลือกตั้งที่ชลบุรี เป็นอีกคนที่เคลื่อนไหวเรื่องแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ อีกทั้งยังเคยทำงานใน บริษัท ไทยซัมมิท พี เค เคฯ ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ

“ทวีศักดิ์ ทักษิณ” อดีตพนักงาน บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยฯ แกนนำแรงงานในฐานะกรรมการบริหารสหภาพ แรงงานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย สหภาพขนาดใหญ่ในอุตสาห กรรมยานยนต์ของประเทศ สุเทพ อู่อ้น อดีตพนักงานบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย)ฯ ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานยานยนต์และอะไหล่อีซูซุ ประเทศไทย และผู้ก่อตั้งสมาพันธ์แรงงานอีซูซุ ประเทศไทย เมื่อปี 2556 อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

แต่คนสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น “สุนทร บุญยอด” กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ในสัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน คือคนที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการสร้างฐานเสียงผู้ใช้แรงงานให้พรรค เนื่องจากสุนทรเป็นผู้นำแรงงานสาย “สภาองค์กรลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย

ส่วนมิติเศรษฐกิจ ภารกิจสำคัญของ “หม่อมเต่า” มีอย่างน้อย 2 เรื่อง คือการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชน เช่น ค่าแรงขั้นตํ่า 400-425 บาทต่อวัน เงินเดือนอาชีวศึกษา 18,000 บาท เงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 20,000 บาท

ตรงนี้ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่พอสมควร เพราะจะส่งผล กระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็น การปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

หม่อมเต่า  ไหวมั้ย นักเศรษฐศาสตร์คุมแรงงาน

ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะพบว่า ค่าจ้างแรงงานโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราค่าจ้างในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2% ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.29% โดยมีมูลค่าเท่ากับ 12,388 บาทต่อเดือน เมื่อหักเงินเฟ้อที่ 0.8% ทำให้ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่มากนักที่ 1.8% สะท้อนให้เห็นว่าอัตราค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าประสิทธิภาพแรงงาน

 

ที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยกับประเทศ เพื่อนบ้าน พบว่าค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน อินโดนีเซีย 288 บาทต่อวัน มาเลเซีย 280 บาทต่อวัน กัมพูชา 193 บาทต่อวัน ฟิลิปปินส์ 163-325 บาทต่อวัน เวียดนาม 133-189 บาทต่อวัน สปป.ลาว 135 บาทต่อวัน และเมียนมา98 บาทต่อวัน

นั่นหมายความว่าค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยในปัจจุบันสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “หม่อมเต่า” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องตัดสินใจอย่างรอบ คอบ เพื่อให้ค่าจ้างขั้นตํ่าไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 

เช่นราคาสินค้า ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ลูกจ้างเองก็ต้องมีรายได้ที่เพียงพอต่อภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน

อีกประเด็นที่สำคัญในเชิงเศรษฐกิจที่เป็นความท้าทายของ “หม่อมเต่า” คือ การยกระดับฝีมือแรงงานให้หลุดพ้นจากการถูกเทคโนโลยีไล่ล่า เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันมีการนํานวัตกรรม และหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น การยกระดับฝีมือแรงงานของไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดจึงมีความสำคัญอย่างมาก 

 

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3487 ระหว่างวันที่ 14 - 17 กรกฎาคม 2562

หม่อมเต่า  ไหวมั้ย นักเศรษฐศาสตร์คุมแรงงาน