“ประวิตร” จ้องคุมพลังงาน

12 ก.ค. 2562 | 03:38 น.

ครม.ใหม่ยังแบ่งงานไม่ลงตัว เผยระดับรองนายกฯ ส่อขัดแย้ง เหตุ “ประวิตร” ต้องการคุมกระทรวงพลังงาน อ้างเป็นเรื่องความมั่นคง 

 

ภายหลังโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นความชัดเจนบุคคลที่จะร่วมงานกับรัฐบาลประยุทธ์ 2 แต่ยังมีขั้นตอนการแบ่งงานของ ครม.ใหม่ในแต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีรัฐมนตรี 4 คน จาก 4 พรรคการเมือง ยังไม่ลงตัว แต่ไม่มีความขัดแย้งเท่ากับการแบ่งงานของรองนายกรัฐมนตรี

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีปัญหาในการแบ่งงานในระดับรองนายกรัฐมนตรี 3 คน คือนายวิษณุ เครืองาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่มีข้อสรุปและมีแนวโน้มจะขัดแย้งกัน โดยเฉพาะระหว่าง พล.อ.ประวิตรและนายสมคิด แม้จะมีความชัดเจนว่านายวิษณุ เป็นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ แต่เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ควบ รมว.กลาโหม เหมือนสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 จึงต้องการจะเอากระทรวงพลังงานมากำกับดูแลเอง

 

“แม้จะเป็นกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจที่น่าจะอยู่ในกำกับดูแลของนายสมคิด แต่ พล.อ.ประวิตรอ้างว่าพลังงาน เป็นเรื่องของความมั่นคง พร้อมยกตัวอย่างในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น”

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่รัฐบาลประยุทธ 1 กระทรวงพลังงานไปอยู่ในการดูแลของ พล.อ.อ.ประจิน เนื่องจากเมื่อเดือน ก.ย.2558 มีการปรับ ครม.กันใหม่ โดยก่อนหน้ากระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ตามสายงาน
กระทั่งมีการปรับ ครม.เมื่อเดือน ก.ย.2558 ให้นายสมคิดเข้ามาทำหน้าที่แทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ส่วน พล.อ.อ.ประจินถูกโยกจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม ไปเป็นรองนายกฯ จึงแบ่งงานกันใหม่ให้ พล.อ.อ.ประจินเป็นรองนายกฯ คุมกระทรวงพลังงานด้วย

 

สำหรับกระทรวงพลังงานปีงบประมาณ 2562 แม้จะมีงบ 2,300 ล้านบาท กับเงินนอกงบประมาณ 8,500 ล้านบาท รวมแล้วเพียง 10,800 ล้านบาท แต่ยังมีขุมทรัพย์และผลประโยชน์มาหศาล อาทิ นโยบายเปลี่ยนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า IPP ถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ อำนาจการอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำเข้าก๊าซ LNG มูลค่า 1 แสนล้านบาท การให้เอกชนเสนอค่าไฟฟ้าต่ำโดยไม่ต้องประมูล IPP อีก 8 โรง 6,900 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 1 แสนล้านบาท รวมทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 รออนุญาตการนำเข้าและจำหน่าย LNG ของเอกชน มูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น