เอกชนไทยผวา มะกันบีบหนัก ส่งออก-ค่าบาท

11 ก.ค. 2562 | 23:00 น.

สินค้าจีนมาแล้ว ทะลักอาเซียนสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ เลี่ยงภาษีนำเข้าสูง “เวียดนาม-กัมพูชา-ไต้หวัน” เจอถ้วนหน้า สหรัฐฯ แจ้งเตือนไทยคุมเข้ม สภาอุตฯสั่ง 45 กลุ่มสมาชิกห้ามนอกลู่ ผวามะกันตอบโต้ทางการค้า สภาหอฯ ยันป้องกันเต็มที่

จากสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายพันรายการในอัตรา 25% ไปแล้ว ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น ด้านหนึ่งมีผลให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าของจีน และบริษัทต่างชาติที่มีฐานผลิตในจีนทยอยย้ายฐานไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้สิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า(Rules of Origin) ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯในอัตราภาษีที่ตํ่ากว่าการส่งออกจากประเทศจีนโดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งมีรูปธรรมสินค้าจีนได้เข้าไปสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าในหลายประเทศเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ

จากข้อมูลของเว็บไซต์ wallstreetjournal.com และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เวลานี้มีสินค้าจีนถูกส่งออกมายังประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนามเพื่อปลอมแปลงถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกต่อ(Re-export) ไปยังสหรัฐฯเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าสูง โดยข้อมูลการค้าของเวียดนามช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 เวียดนามส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 71.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปทั่วโลกถึง 5 เท่า

ในช่วงเวลาเดียวกันเวียดนามนำเข้าสินค้าจีนในหมวดนี้มูลค่า 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 80.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าของการนำเข้าจากทั่วโลก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯเชื่อว่าการที่สหรัฐฯตอบโต้จีนโดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากจีนตั้งแต่เหล็กไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ สินค้าเหล่านี้ได้ถูกขนย้ายไปพักพิงในประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน รวมถึงไทยและมาเลเซีย ซึ่งศุลกากรสหรัฐฯจะดำเนินการตรวจสอบกรณีการขนถ่ายลำสินค้าจากจีนอย่างผิดกฎหมายผ่านไปยังเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม และการค้าของเวียดนามระบุว่า การฉ้อโกงทางการค้าด้วยการปลอม แปลงแหล่งผลิตโดยติดฉลากแสดงถิ่นกำเนิดสินค้าว่าผลิตในเวียดนาม(Made in Vietnam) มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น กระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค และยังบั่นทอนชื่อเสียงและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตในเวียดนามด้วย ซึ่งหน่วยงานศุลกากรของเวียดนามได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารใบรับรองต้นทางที่มาพร้อมกับการขนส่งระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าจีนมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือบรรจุภัณฑ์และติดฉลากว่าผลิตในเวียดนาม เพื่อรี-เอ็กซ์ปอร์ตไปตลาดสหรัฐฯ ยุโรปหรือญี่ปุ่น

เอกชนไทยผวา  มะกันบีบหนัก  ส่งออก-ค่าบาท

รายงานจากสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา เผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯกำลังเร่งบังคับให้บริษัทต่างๆ ที่รี-เอ็กซ์ปอร์ตสินค้าจากจีนผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ที่จีนเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นแหล่งที่ไม่สามารถแสดงข้อมูลของบริษัทที่รับถ่ายลำสินค้าได้ โดยบริษัทที่อยู่ในโซนพิเศษดังกล่าวผลิตสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า กระเป๋า และเครื่องหนัง อย่างไรก็ดีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯจะทำการตรวจสอบและปรับบริษัทที่หลบเลี่ยงภาษีดังกล่าวต่อไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทางการสหรัฐฯได้แจ้งมายังทางการของไทยให้เพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องดูแลสินค้าจีนที่อาจเข้ามาสวมสิทธิ์หรือปลอมแปลงเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วในเวียดนาม และไต้หวันที่ผู้ประกอบการของจีนได้เข้าไปเปิดบริษัท รวมถึงเช่าโกดังหรือเช่าห้องแถวในการพักสินค้า ก่อนปลอมแปลงใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ

“ส.อ.ท.ซึ่งเป็น 1 ในองค์กรเอกชนที่สามารถออกใบ C/O (ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า)ได้ พอทราบข่าวมีการสวมสิทธิ์ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในไทยก็ได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบเรื่องนี้ทันที ปรากฏปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากสมาชิกของส.อ.ท.แต่อย่างใด ซึ่งได้กำชับให้สมาชิก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และสมาชิกกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษและขออย่าร่วมมือทำเรื่องลักษณะนี้เด็ดขาด เพราะเราอาจถูกสหรัฐฯตอบโต้ขึ้นภาษีสินค้า หรือถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าบางอย่างได้”

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าไทยส่งออกทางสภาหอฯมีความเป็นห่วง ที่ผ่านมาได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งการออกไปสุ่มตรวจสอบโรงงานสมาชิกว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ การตรวจสอบเรื่องเอกสารหลักฐานต่างๆ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ ก่อนออกใบ C/O และมีการขึ้นบัญชีโรงงานไว้ เพื่อตรวจสอบเป็นระยะ

ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงนั้นนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินนั้นเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีเครื่องมืออื่น ที่จะหยิบมาใช้ได้ นอกจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้การที่ ธปท.ไม่สามารถประคองเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนั้น ธปท.ทำอะไรได้ไม่มาก สาเหตุจากปัจจัยพื้นฐานไม่ว่าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงซึ่งปีนี้คาดว่าจะเกินดุล 6% บวกเงินร้อนที่เพิ่งเข้ามาเก็งกำไรในบอนด์ระยะสั้น และยังมีประเด็นเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มไม่หยุด ซึ่งถ้าดูทั้ง 3 ส่วนนี้ไทยยังอยู่ในฐานะระวังตัว เพราะสหรัฐฯยังจับตากรณีแทรกแซงค่าเงินของไทย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เอกชนไทยผวา  มะกันบีบหนัก  ส่งออก-ค่าบาท