อีไอซี หั่นจีดีพีไทยปี 62 เหลือ 3.1%

09 ก.ค. 2562 | 10:17 น.

อีไอซี ปรับลดประมาณการจีดีพีไทย ทั้งปีโต 3.1% จาก 3.3% หั่นส่งออกติดลบ 1.6% จาก 0.6% พร้อมตั้งสมมุติฐานสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีจีน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กดจีดีพีเหลือโต 2.7% ส่งออกวูบติดลบ 3.1% ชี้ โอกาสเห็นธปท.เฉือนดอกเบี้ยลง 0.25% ประคองเศรษฐกิจ    

               นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Interlligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยปี 2562 จากเดิม 3.3% เหลือ 3.1% ส่วนหนึ่งมาจากสัญญาณการส่งออกที่มีอัตราติดลบ โดยดูในตะกร้าสินค้ากว่า 72% ของตลาดส่งออกของไทยเริ่มติดลบ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ติดลบแล้ว -4.9% และสหรัฐฯ ยังเป็นบวกเล็กน้อย อีไอซีจึงปรับลดการส่งออกปีนี้ติดลบอยู่ที่ 1.6% จากเดิมขยายตัว 0.6% อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกน่าจะถึงจุดต่ำสุดภายในไตรมาสที่ 3 หรือติดลบเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และการส่งออกจะค่อยกลับมาดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยการบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 3.9% เพิ่มขึ้นจาก 3.8% การลงทุนภาคเอกชนจาก 3.8% เหลือ 3.7% และการลงทุนภาครัฐเหลือ 4% จาก 5.3%

อีไอซี หั่นจีดีพีไทยปี 62 เหลือ 3.1%

               อย่างไรก็ดี อีไอซี ได้ตั้ง 3 สมมุติฐาน ในการปรับประมาณการเศรษฐกิจไว้ 3 สมมุติฐาน คือ 1.กรณี Base Case อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.1% และส่งออกติดลบอยู่ที่ 1.6% จากเดิมอยูที่ 0.6% กรณี 2.Worse Case กรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีการนำเข้าจากจีนที่ 10% ของ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกไทยติดลบ 2.3% และจีดีพีจะเหลือขยายตัวอยู่ที่ 2.9% และกรณี 3.Worst Case หากสหรัฐฯ ขึ้นเพดานภาษีการนำเข้าจากจีนทั้งหมด 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเต็มเพดาน 25% ส่งผลให้การส่งออกยิ่งติดลบไปอยู่ที่ 3.1% และจีดีพีจะเหลือขยายตัวเพียง 2.7% เท่านั้น

ทั้งนี้ หากกรณีกรณีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวลงมาอยู่ที่ 2.9% จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสปรับดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ลงมา 1 ครั้งภายในปีนี้ หรือประมาณ 0.25% อย่างไรก็ดี สิ่งที่ธปท.ห่วงและพิจารณาก่อนลดอัตราดอกเบี้ย จะเป็นเรื่องของพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกู้ยืมเงินของธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบ และหากดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าของไทยต่ำมากอยู่ที่ 0.75% ทำให้เหลือกระสุนในการดำเนินนโยบายค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 1.10% อินเดีย 1.55% ฟิลิปปินส์ 1.90% และอินโดนีเซีย 2.60%

               อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเด็นเม็ดเงินงบประมาณภาครัฐ มองว่า งบประมาณที่มีความล่าช้ามีผลกระทบระยะสั้นในส่วนของโครงการใหม่ๆ เท่านั้น แต่มาตรการที่จะออกมาจะต้องสมดุล และก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยดูจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีงบประมาณออกมา 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ประมาณ 0.05% ซึ่งคราวนี้คาดว่าเม็ดเงินงบประมาณที่จะออกมาภายในครึ่งปีหลังน่าจะใกล้เคียงกันไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.04-0.06%   

กนง.มีโอกาสปรับบลดดอกเบี้ยลง เพราะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น หรือ Down side Risk โดยเรื่องสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ ที่กระทบความเชื่อมั่นนักธุรกิจ ทำให้การค้าโลกชะลอตัว และการลงทุนไม่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโลกให้เติบโตน้อยลง และกระทบต่อไทย อย่างไรก็ดี เรามองว่ามีความเปฌนไปได้ที่จะเกิดกรณีเลวร้ายและเลวร้ายที่สุดประมาณ 35% ที่สหรัฐฯ จะขึ้นนภาษี และประมาณ 45% จะคงเพดานภาษีไว้เท่าเดิม และอีก 25% สามารถเจรจาประกาศชัยชนะและดีลกันได้ในต้นปีหน้า

อีไอซี หั่นจีดีพีไทยปี 62 เหลือ 3.1%