ตามติดเทรนด์นํ้ามันปาล์มในสเปนโอกาสของผู้ประกอบการไทย (1)

12 ก.ค. 2562 | 10:00 น.

นํ้ามันปาล์มกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพราะสหภาพยุโรป (อียู) กําลังมองว่าอุตสาหกรรมนํ้ามันปาล์มมีส่วนในการตัดไม้ทําลายป่า ทําลายที่อยู่อาศัยของคนพื้นถิ่นและสัตว์ป่า รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป บรรลุข้อตกลงต่อร่างข้อบังคับเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Directive: RED II) ซึ่งเห็นชอบให้กําหนดสัดส่วนที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เสี่ยงต่อการทําลายป่า (High Indirect Land Use Change (ILUC) risk) โดยจะค่อยๆ ลดสัดส่วนจนเหลือศูนย์ภายในปี 2573 โดยมิได้เจาะจงเฉพาะกับนํ้ามันปาล์ม

อย่างไรก็ดี นํ้ามันปาล์มน่าจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบกับเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปเพิ่งเห็นชอบร่างกฎเกณฑ์เพิ่มเติม (Delegated Act) เรื่องการประเมินความเสี่ยงของเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทต่างๆ ซึ่งเชื้อเพลิงชีวภาพจากนํ้ามันปาล์มถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทําลายป่า ประเทศผู้ผลิตนํ้ามันปาล์มรวมถึงไทยจึงได้พยายามที่จะกดดันให้สหภาพยุโรปปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ผลิตนํ้ามันปาล์มภายในประเทศ

ไทยเป็นผู้ผลิตนํ้ามันปาล์มรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งสามารถผลิตได้ 1.8 ล้านตัน หรือ 2.93% ของผลผลิตนํ้ามันปาล์มโลก แม้ว่าไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงจากมาตรการดังกล่าวน้อยกว่า 2 ผู้ผลิตนํ้ามันปาล์มหลักของโลกอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งผลิตได้ 33 ล้านตันและ 19.8 ล้านตันตามลําดับ อีกทั้งปริมาณการส่งออกนํ้ามันปาล์มไปยังสหภาพยุโรปของไทยยังมีเพียงเล็กน้อย แต่อุตสาหกรรมการผลิตนํ้ามันปาล์มของไทยก็ไม่อาจสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าวได้

ในปี 2560 สหภาพยุโรป นําเข้านํ้ามันปาล์มมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียด้วยปริมาณ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 6 พันล้านยูโร โดย 75% เป็นการนําเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และนําไปใช้สําหรับผลิตไบโอดีเซล (46%) ใช้ผลิตอาหารคน อาหารสัตว์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม (45%) และผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน (9%)

สำหรับเทรนด์นํ้ามันปาล์มในสเปนซึ่งเป็นแนวโน้มและความต้องการของตลาดสเปนที่ผู้ประกอบการไทยควรรับทราบแบ่งได้เป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติด้านพลังงาน และมิติด้านอาหาร

ตามติดเทรนด์นํ้ามันปาล์มในสเปนโอกาสของผู้ประกอบการไทย (1)

มิติด้านพลังงาน มาตรการของสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อสเปน เพราะมากกว่า 50% ของไบโอดีเซล และ 98.46% ของไฮโดรไบโอดีเซล (Hydrobiodiesel) ที่ผลิตในสเปนทํามาจากนํ้ามันปาล์ม

นอกจากนี้ สเปนเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลจากนํ้ามันปาล์มหลักของสหภาพยุโรป โดยนําเข้านํ้ามันปาล์มปริมาณ 1.53 ล้านตัน หรือ 83% ของการนําเข้าทั้งหมดเพื่อมาใช้สําหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสําหรับภาคขนส่งและพลังงาน และหากรวมสเปน อิตาลี และเนเธอร์แลนด์เข้าด้วยกัน ผลผลิตรวมของทั้ง 3 ประเทศ มีสัดส่วนถึง 80% ของไบโอดีเซลที่ผลิตได้ในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ นํ้ามันปาล์มที่มาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในสเปนทั้งหมดจําเป็นต้อง ได้รับมาตรฐาน ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) ตามกฎข้อบังคับ RED ของสหภาพยุโรป

 

ISCC คือมาตรฐานการทําเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (sustainability) และสามารถสืบย้อนตลอดห่วงโซ่การผลิต (traceability) โดยบริษัทผู้นําเข้านํ้ามันปาล์มของสเปนได้ยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปด้วย สิ่งนี้จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการนํ้ามันปาล์มของไทยควรให้ความสนใจ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว

บริษัท Repsol ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในสเปนและนําเข้านํ้ามันปาล์มเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยปริมาณ 7 แสนตัน/ปี รวมทั้งนําเข้า palm oil residue 3 แสนตัน/ปี โดยนําเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นหลัก เผยว่า สนใจนําเข้า palm oil residue จากไทยโดยเฉพาะ Palm Fatty Acid Distillate (PEAD) Free Fatty Acid (FFA) และ Palm Oil Miu Effluent (POME) บนเงื่อนไขที่ว่าผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจากไทยต้องได้รับรองมาตรฐาน ISCC เสียก่อน นี่จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสําหรับผู้ประกอบการไทยในการขอรับรองมาตรฐานดังกล่าวเพื่อสามารถทําธุรกิจและส่งออกสินค้าไปยังบริษัทในสหภาพยุโรปได้

ในส่วนของ มิติด้านอาหาร สเปนนําเข้านํ้ามันปาล์มเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารปริมาณ 1.9 แสนตันหรือ คิดเป็น 10.3% ของการนําเข้าทั้งหมด โดยแบ่งเป็นนํ้ามันปาล์ม 1.69 แสนตันและนํ้ามันจากเนื้อในเมล็ดปาล์ม (palm kernel oil) 2 หมื่นตัน โดยนํามาใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร อาทิ เนยเทียม คุกกี้ เบเกอรี่ เค้ก ไอศกรีม ซอสช็อกโกแลต อาหารเตรียมสําเร็จ (prepared foods) ขนมทานเล่น เป็นต้น ในแต่ละปีชาวสเปนบริโภคนํ้ามันปาล์มและนํ้ามันจากเนื้อในเมล็ดปาล์มรวม 3.77 กิโลกรัม/ปี หรือ10.32 กรัม/วัน โดยแบ่งเป็นการบริโภคนํ้ามันปาล์ม 3.32 กิโลกรัม/ปี และนํ้ามันจากเนื้อในเมล็ดปาล์ม 0.449 กิโลกรัม/ปี 

คอลัมน์ ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3486 ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2562