อีทราน ปักธงเดือน9ขายจริงสู้อีวีฮอนด้า-ยามาฮ่า

13 ก.ค. 2562 | 01:00 น.

 

ยุคใหม่ “มอเตอร์ไซค์อีวี” เริ่มเห็นภาพชัดเจน หลัง “อีทราน” สตาร์ตอัพสัญชาติไทยได้ทุน ปตท.หนุนหลัง เล็งเปิดตัวรุ่น “คราฟ” อย่างเป็นทางการเดือนกันยายนนี้ ยันราคาตํ่ากว่า 1 แสนบาท ส่วนยักษ์ใหญ่แบรนด์ญี่ปุ่น ฮอนด้า-ยามาฮ่า พร้อมลุยต้นปีหน้า

“ฐานยานยนต์” ตามข่าวและความเคลื่อนไหวมากว่า 2 ปี สำหรับ “อีทราน” (ETRAN)สตาร์ตอัพสัญชาติไทย ผู้บุกเบิกรถมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า 100% (อีวี) แต่ด้วยการเป็นธุรกิจใหม่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเงินทุน และเทคโนโลยียานยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ราคาขายต่อหน่วยสูงจึงต้องใช้เวลาสร้างตลาดและเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคพอสมควร

อีทราน ปักธงเดือน9ขายจริงสู้อีวีฮอนด้า-ยามาฮ่า

“อีทราน”ภายใต้การนำของ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ที่แรกเริ่มได้รับการสนับสนุนจาก “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” บริษัทผู้พัฒนาสตาร์ตอัพในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ และมีแผนทำมอเตอร์ไซค์อีวี ให้ “วินมอเตอร์ไซค์” รับจ้างเช่าขับหารายได้ แม้ต้นทุนต่อหน่วยการวิ่งตํ่า แต่ราคารถค่อนข้างสูง การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามแผน

ที่ผ่านมา “อีทราน” พยายามหาพันธมิตรที่เป็นโรงงานประกอบหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความชำนาญในอุตสาหกรรมอยู่เดิม และมีหลายรายให้ความสนใจเช่น “ไทยรุ่ง” แต่สุดท้ายไปจบดีลได้พื้นที่โรงงานประกอบเดิมของ “คาวาซากิ” ย่านแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งรถ 1 คัน ใช้เวลาผลิต 90 นาที ขณะที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต เป็นการนำเข้าเซลส์มาจากประเทศจีน อีทราน จะประเดิมทำตลาดด้วยรถรุ่น “คราฟ” (Kraf) มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้

 

ขณะเดียวกันยังได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. “อีทราน” จึงมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งช่องทางการขาย การประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศของรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงจุดชาร์จไฟสาธารณะที่มีรองรับ ล่าสุดมีรายงานจากฝั่ง ปตท. ว่าตอนนี้มียอดสั่งซื้อล่วงหน้า กว่า 3 พันคันแล้ว (เป็นการขายล็อตใหญ่) หลังนำไปอวดโฉมที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2018

อีทราน ปักธงเดือน9ขายจริงสู้อีวีฮอนด้า-ยามาฮ่า

ส่วนการขายปลีกให้ลูกค้าทั่วไป“สรณัญช์ ชูฉัตร” ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่าราคาขายรุ่น “คราฟ” จะตํ่ากว่า 1 แสนบาทแน่นอน โดยการเปิดตัวอยากให้เป็นวันที่ 9 เดือน 9 (9 กันยายน 2562) ส่วนปีหน้าหวังขายเดือนละ 500 คัน จากช่องทางออนไลน์

สำหรับอีทราน คราฟ สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้แน่นอน ด้วยมอเตอร์กำลัง 9.5 แรงม้า แรงบิด 175 นิวตัน-เมตร ความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. ชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งรถวิ่งได้ระยะทาง 180 กม. จากแบตเตอรี่ขนาด 3 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนรุ่น “พร้อม” (Prom) ที่วิ่งได้ระยะทางไกลกว่าและหวังขายเป็นรถสาธารณะ จะใช้แบตเตอรี่ 6 กิโลวัตต์ชั่วโมง

นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของมอเตอร์ไซค์อีวีสัญชาติไทย ที่เตรียมเปิดตัวเร็วๆนี้ ส่วนแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ฮอนด้า-ยามาฮ่า ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยรวมกันเกิน 90% เริ่มมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดย “ยามาฮ่า” ยืนยันว่าจะมี มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถโมเดลใหม่เปิดตัวภายในต้นปีหน้า ขณะที่ “ฮอนด้า” เริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และคาดว่าจะมีรถทำตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน

 

 

นายชิเกโตะ คิมุระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด คนใหม่ เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าว่า เริ่มแรกได้จับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการสร้างประสบการณ์การขับขี่รถจักรยานยนต์ฮอนด้า PCX Electric เพื่อศึกษาและสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานด้านต่างๆ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลมาต่อยอดในการออกแบบและพัฒนาผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเตรียมการสำหรับระบบอีโคซิสเต็มหรือระบบนิเวศทั้งหมดเกี่ยวกับรถไฟฟ้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการใช้งานของผู้ใช้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งโครงการจะเริ่มในเดือนกันยายนนี้

สำหรับ PCX Electric ที่นำมาทดลองใช้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถือเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 3 ของฮอนด้า ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า100% ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ยังมีพันธมิตร HAUP บริษัทสตาร์ตอัพที่มีความเชี่ยวชาญระบบคาร์แชริ่ง ที่จะพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อทดลองการให้บริการรถ PCX Electric ในโครงการนี้

บริษัทยังหารือกับกลุ่มสมาคมผู้ผลิต เพื่อศึกษาเรื่องกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดแบตเตอรี่ การรีไซเคิล ซึ่งในฐานะผู้ผลิตเห็นด้วยกับการออกกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อป้องกันขยะพิษในประเทศไทย ทั้งนี้ในกลุ่มรถพลังงานทางเลือกที่ขายในไทย ยังคงเป็น “ฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ ไฮบริด” เป็นหลัก ยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 200 คัน เป็นไปตามเป้าตามที่กำหนดไว้

“เรามองว่ารถพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอยู่ในช่วงทดลอง ทั้งเรื่องการใช้งาน ผลที่ออกมาจะต้องปรับปรุงอะไรอีกบ้าง รวมไปถึงตลาดรถไฟฟ้าในไทยควรจะเริ่มใช้กับคนกลุ่มไหนก่อน ซึ่งเราประเมินคือกลุ่มองค์กร หน่วยงาน มหาวิทยาลัย” นายคิมุระ กล่าว 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562