ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

06 ก.ค. 2562 | 09:20 น.

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

 

จากปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา  เนื่องจากปริมาณความต้องการวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตส่งออก และความต้องการในการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและยังมีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำโดยไม่ถูกต้อง  ทำให้เกิดกระแสการร้องเรียนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ถึงความเดือนร้อนของผู้ประกอบการไทยที่มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่าวัตถุดิบที่นำเข้า เนื่องจากประเทศไทยมีการควบคุมและรับรองมาตรฐานการเลี้ยง และการจับสัตว์น้ำที่มีคุณภาพปลอดจากการประมง IUU  ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมได้  

 

ตลอดจนการร้องเรียนของผู้บริโภคถึงความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศว่ามีความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรการที่กำหนดหรือไม่

 
นายอดิศร พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าภายใต้นโยบาย IUU Free THAILAND และ Food Safety ของประเทศไทยที่ได้มีการประกาศและแสดงเจตนารมย์ไว้ เพื่อให้การประมงไทยทั้งจากการจับจากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมุ่งสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกแล้ว หลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใสทางธุรกิจ ซึ่งจะคุ้มครองผู้ประกอบการในการแข่งขันทางธุรกิจ และผู้บริโภคที่มีสินค้าที่บริโภคได้อย่างปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม 

 

“ช่วงที่ผ่านมากรมประมงได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบการนำเข้าสัตว์น้ำของไทย โดยเริ่มจากสัตว์น้ำที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยทางเรือ โดยใช้ “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” เนื่องจากสามารถบรรทุกได้ในปริมาณมากและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการขนส่งประเภทอื่น ทำให้มีการขนถ่ายในช่องทางนี้เป็นจำนวนมาก”

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

                         นายอดิศร พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทูน่า” ซึ่งประเทศไทยเป็น “ตลาดนำเข้าทูน่า” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้มาตรการ PSMA  กรมประมงได้มีการตรวจสอบสัตว์น้ำที่มากับเรือ ขนถ่ายทุกลำว่ามีการขนสัตว์น้ำจาก เรือจับลำใด มีการทำประมงในช่วงไหน แหล่งใด ทำการประมงผิดกฎหมายหรือไม่  โดยมีการประสานงานกับรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง หรือ RFMO อย่างใกล้ชิด เพื่อขอ “หลักฐาน” ที่จะสามารถยืนยันความถูกต้องของสัตว์น้ำเหล่านั้น 

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

อาทิเช่น ข้อกฎหมาย  พิกัดสัญญาน VMS/AIS ใบอนุญาตการจับสัตว์น้ำ  ตลอดจนกรมประมงยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นกับองค์กรต่างๆ ที่เฝ้าจับตามการประมง IUU ในน่านน้ำต่างๆ เช่น FFA  ที่ดำเนินการอยู่ในมหาสมุทรแปซิกฟิก หรือ Fish-I- Afarica ที่ดูแลในพื้นที่บริเวณชายฝั่งแอฟริกา  เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์น้ำที่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นสัตว์น้ำที่ปลอดจากการทำประมง IUU  

 

ผลการดำเนินงานประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจับเรือประมงต่างชาติที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรือ IUU ถึง 5 ลำ  และมีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าประมงที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะให้เชื่อมั่นได้ว่าไม่ได้มาจากการทำประมง IUU ไปแล้วประมาณ 400  ตัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้รับการยอมรับว่าประเทศไทยมีการปฎิบัติตามพันธกรณี ภายใต้ PSMA ที่ได้มีการลงนามให้สัตยาบันไว้  และทำให้ประเทศไทยหลุดจากข้อกล่าวหาว่าเป็น “แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก ซึ่งส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง 

 

นอกจากนี้จากความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการที่ช่วยควบคุมเรือประมง หรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ทั้งประเทศมาเลเชีย เวียดนาม พม่า ที่จะเข้ามาเทียบท่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีทางการควบคุมการทำประมงและส่งผลต่อการเจรจาความร่วมมืออื่นๆ ต่อไปในอนาคต  

 

แต่อย่างไรก็ตามหากยังคงมีการลักลอบและเรายังคงไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะถูกเพื่อนบ้านประนามได้ว่า “สนับสนุนการประมง IUU”  สิ่งเหล่านี้คงเป็นประเด็นที่ต้องฝากให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันเฝ้าระวัง  

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

จากมาตรการ PSMA ที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ทำให้กลไกในการต่อต้าน IUU มีประสิทธิภาพมากขึ้น  กระแสการนำสัตว์น้ำ IUU ไปในช่องทางอื่นเริ่มมีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีการนำสัตว์น้ำ IUU ไปขึ้นท่าเทียบเรือในประเทศที่มาตรการ PSMA ยังไม่มีประสิทธิภาพ และนำสัตว์น้ำขนถ่ายขึ้นตู้คอนเทนเนอร์และส่งออกทางเรือบรรทุกสินค้า ทำให้ประเทศต่างๆ 

 

เริ่มจับตามองสินค้าประมงที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำที่มาจากประเทศที่ไม่ได้รับความเชื่อถือ ส่งผลให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ  ประเทศไทยก็ถูกเพ่งเล็งเช่นเดียวกันจากประวัติการทำการประมงในช่วงที่ผ่านมา  

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

จากสภาพการณ์ดังกล่าวกรมประมงได้นำหลักการของ PSMA เข้ามาใช้ในการตรวจสอบสินค้าที่มาในลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ด้วย โดยได้มีการตรวจสอบไปยังรัฐเจ้าของท่าที่มีการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า  รัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของธงเรือจับ เพื่อขอหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้มาจากการทำประมง IUU เช่นดียวกับ.  มาตรการ PSMA  และการแจ้งพิกัดการนำเข้าทางพิธีศุลกากร

 

เป็นสิ่งหนึ่งที่กรมประมงให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะก่อให้การแข่งขันที่เป็นธรรมในประเทศ ผลจากดำเนินการในช่วงที่ผ่านมากรมประมงได้มีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำไปทั้งสิ้น 58 ตู้ น้ำหนักประมาณ 1,160 ตัน  และมีดำเนินคดีและการริบสัตว์น้ำที่นำเข้าไปทั้งสิ้น 3 ตู้ จำนวน 60 ตัน

 

นอกจากนี้แล้วสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังถูกควบคุมเป็นพิเศษ ภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคสัตว์น้ำ กรมประมงให้ความเข้มงวดกับการควบคุมสัตว์น้ำที่นำเข้าภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำที่นำเข้ามาไม่ได้เป็นพาหะของโรคที่จะส่งผลต่อการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมากรมประมงมีการตรวจพบโรคทำให้มีการยึดและทำลายสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาสวยงามที่มีราคาแพง

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ

เช่น ปลาคราฟ  ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 มีการจับทำลาย 12,000 ตัว  คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนบาท  และมีการสั่งให้ผู้นำเข้าทำลายโดยใช้ความร้อน จำนวน 9 ตู้ น้ำหนักประมาณ 180  ตัน และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค กรมประมงได้จัดทำระบบการติดตามเฝ้าระวัง 

 

โดยสุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าทุกชนิดว่าจะสารตกค้างที่มีปริมาณเกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดหรือไม่  ซึ่งมีการตรวจสอบสารตกค้าง 5 ชนิด ดังนี้ คอลแรมแฟนิคอล  กลุ่มไนโตรฟูแรน  มาลาไคท์กรีน  และลูโคมาลาไคท์กรีน  ตะกั่ว และปรอท 

 

หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะเริ่มใช้มาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดตามความจำเป็น เช่น ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า “ปลาช่อนมีชีวิต” ที่นำเข้าพบว่ามีสารตกค้างกลุ่มไนโตรฟูแรน  มาลาไคท์กรีน  และลูโคมาลาไคท์กรีน เกินเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด  กองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต  

 

กรมประมง ได้ชะลอการนำเข้าเป็นการชั่วคราว และแจ้งให้ผู้ประกอบการนำเข้าต้องมีแสดงหนังสือรับรองสุขอนามัยหรือรายงานผลการทดสอบประกอบการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตามถึงมีเอกสารดังกล่าว กรมประมงยังคงมีการสุ่มตรวจและถ้าพบว่ามีปริมาณสารตกค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนด เอกสารรับรองดังกล่าวจะหมดความน่าเชื่อถือลงไป และหากผู้ประกอบการจะนำเข้าต้องมีการอายัดสินค้าไว้จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบว่าสินค้ารุ่นนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจึงจะสามารถนำออกจำหน่ายได้ แต่หากยังคงมีพบสารตกค้างอยู่ กรมประมงจะแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสั่งดำเนินการทำลายต่อไป  

 

อธิบดีกรมประมง กล่าวอย่างมั่นใจว่าภายใต้มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาจะช่วยให้การประมงของไทยและของโลกมุ่งไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่ทำอย่างถูกต้อง เพราะเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าการทำประมง IUU ก่อให้เกิดการล่มสลายของการประมง  ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศถึงความปลอดภัยในการบริโภคที่ได้รับและการมีส่วนช่วยในการผลักดันให้การประมงของโลกมุ่งไปสู่ความยั่งยืนและเป็นสมบัติของลูกหลานในอนาคต  

 

อย่างไรก็ตามในที่มี “คนดี” ก็ยังคงมี “คนที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน” ปะปนอยู่ด้วย คงเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันทำให้คนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเอาเปรียบสังคมได้  เพราะสิ่งเหล่านั้นเองจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม  เพราะฉะนั้นเราทุกคนคงต้องช่วยกันเพื่อให้สังคมของไทย และความยั่งยืนของทรัพยากรในอนาคต

ป้องไทย แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก กรมประมงคุมเข้ม การนำเข้าสัตว์น้ำ