คุมค่ายาแพง ลามประกัน ลดค่าเคลม

04 ก.ค. 2562 | 01:40 น.

อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นใจระบบคิวอาร์โค้ด ช่วยคุมราคายา-ค่ารักษา สมาคมประกัน ถกเครียด โรงพยาบาลเอกชน ลดสิทธิค่าสินไหม ประกันสุขภาพ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า

การคุมค่ายาและสถานพยาบาลทั้งหมดต้องทำให้ได้ เพราะเรื่องนี้กฎหมายชัดเจน หากไม่ทำจะต้องตอบปัญหาอีกมากมาย ส่วนที่มีการเลื่อนการพิจารณามาตลอดนั้น เพราะรายการของยามีเกือบ 4 หมื่นรายการไม่ได้มีแค่ 5 หรือ 10 รายการ ขอให้รออีกระยะ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนดึงเวลาและสะท้อนปัญหามานั้นเกิดจากความไม่เข้าใจในประเด็นในสิ่งที่กรมการค้าภายในต้องการให้แจ้งรายการค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติจะแจ้งค่าใช้จ่ายรวม แต่กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้แจ้งว่ายาอะไร ราคาเท่าไร จึงกลายเป็นเรื่องใหม่ของโรงพยาบาล ดังนั้นต้องแยกระหว่างค่าเวชภัณฑ์
กับค่าบริการจะนำมารวมกันไม่ได้ ซึ่งจะเริ่มต้นที่ยา 3,992 รายการที่มีการใช้กันมากก่อน จากนั้นจึงจะขยายผลไปสู่รหัสอื่นๆ เพิ่มเติมอีกว่า 2 หมื่นรายการต่อไป

“ตามประกาศกกร. ฉบับที่ 52 เราให้เวลาแจ้งราคา 45 วัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 15 วันในการทำคิวอาร์โค้ดเผยแพร่ให้ผู้ป่วยผู้บริโภคทราบ และส่งให้โรงพยาบาลนำไปใช้สแกนให้ผู้บริโภคตรวจสอบค่ายาต่อไป ส่วนการร้องเรียนจากประชาชนตอนนี้มีการร้องเรียนเข้ามากว่า 10 เคส ไม่ถือว่าน้อยลงแต่เริ่มมีนํ้าหนัก ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น ที่ผ่านมามีการร้องเรียนแต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ตอนนี้มีผู้ร้องหลายคนคาใจต้องการให้ดำเนินการตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องหาข้อมูลเพื่อดำเนินการต่อ”

ส่วนราคายาจะถูกลงหรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ แต่ยืนยันว่าจะเป็นธรรมมากขึ้น เพราะมีราคาขายในมือหากราคาที่กำหนดสูงกว่าราคาที่แจ้งก็เป็นการทำผิดกฎหมาย และต้องมีเหตุผลรองรับว่าทำไมตั้งราคาสูงกว่าที่แจ้ง และจะเกิดคำถามตามมาจากผู้ป่วยและกรมการค้าภายใน แต่ทั้งนี้ราคาที่สูงกว่าปกติถึง 16,000% ไม่มีใครยอมรับได้ และผู้ป่วยต้องพร้อมที่จะรักษาสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องพวกนี้

คุมค่ายาแพง  ลามประกัน  ลดค่าเคลม

“ระบบคิวอาร์โค้ดที่ทำขึ้นมาจะโชว์ให้เห็นในระบบเลยว่าโรงพยาบาลไหนคิดราคาแพงอย่างไร เพราะรหัสนี้เป็นรหัสที่ใช้ทั่วประเทศทั้งโรงพยาบาล ผู้นำเข้า เป็นการเปิดเผยราคา ซึ่งเป็นสเต็ปแรก เมื่อเห็นว่ามีราคาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและไม่มีเหตุผลรองรับกรมการค้าภายในจะเชิญมาชี้แจงเหตุผลในการกำหนดราคา ถ้าไม่มีเหตุผลรองรับก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนสเต็ปที่ 2 การพิจารณากำไรที่สมเหตุสมผลของสถานพยาบาลจะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์นั้น ยังไม่กล้าตอบยังรอข้อมูลผลการศึกษาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยก่อน”

ขณะที่นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่จะมีการแยกเซ็กเมนต์ย่อยราคายาบางตัวออกมา โดยส่วนตัวเป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ด้วย แต่ยังไม่มีการประสานจากคณะทำงานแต่อย่างใด ในทางปฏิบัติ หากมีการหารือกันจนมีข้อยุติแล้วคณะทำงานก็ต้องได้รับข้อมูลอะไรที่อัพเดต ถ้ามีข้อมูลเข้ามาก็ถือว่าเป็นเรื่องดีของความคืบหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาคณะทำงานฯที่ตั้งขึ้นแม้จะมีการพูดคุยกันแต่ยังไม่มีข้อยุติ พอดีมีกรมการค้าภายในเข้ามาควบคุมเรื่องราคายา 

“เท่าที่ทราบประเด็นราคายาและค่าบริการนั้นยังมีการประชุมกันอยู่ แต่เรื่องการเพิ่มเซ็กเมนต์ย่อยออกมานั้น เนื่องจากผมยังไม่เห็นข้อมูล จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลต่อการปรับค่าเบี้ยประกันหรือไม่ โดยจะต้องรอดูข้อมูลเป็นทางการก่อน ส่วนข้อเสนอที่จะมีการแก้ไขกรมธรรม์ประกันสุขภาพนั้น เนื่องจากมีนายทะเบียนอนุมัติ คือ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแลและอนุมัติอยู่แล้ว ซึ่งปกติการจะแก้ไขก็ต้องได้รับอนุมัติจากคปภ.ก่อน เพราะคปภ.จะพิจารณาว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากข้อเสนอแก้ไขที่จะเกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่อยู่ๆ จะแก้ไขกรมธรรม์ทันทีทันใด”

“ต่อข้อถามเกี่ยวกับการเคลมหรือขอชดเชยค่าสินไหมซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกันสุขภาพ ที่ผ่านมาจะมีอัตราการเคลมค่อนข้างสูงกว่าประกันด้านอื่นๆ โดยหลักๆ จะมาจาก 2 ส่วนคือ ค่าใช้จ่ายตามจริง และค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่จำเป็น ซึ่งในข้อนี้ได้มีการหารือระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กับสมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อพยายามหาช่องทางลดค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่จำเป็น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาระหว่างกันทำให้ตอนนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3484 วันที่ 4-6 กรกฎาคม 2562

คุมค่ายาแพง  ลามประกัน  ลดค่าเคลม