OECD ชี้เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำยิงยาว หวั่นธนาคารกลางหมดกระสุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

30 มิ.ย. 2562 | 02:02 น.

ท่ามกลางบริบทที่บรรดาธนาคารกลางประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณชัดในช่วงระยะหลังนี้ว่าพร้อมที่จะลดดอกเบี้ยลงแล้ว นายโฆเซ เอนเจิล เกอร์เรีย เลขาธิการใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ออกมายอมรับว่า สถานการณ์โลกคงจะย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก ถ้าหากว่าบรรดาธนาคารกลางของนานาประเทศไม่ได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการที่จะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่า ธนาคารกลางได้นำเครื่องมือต่างๆออกมาใช้จน “หมดกระสุน” แล้ว 

โฆเซ เอนเจิล เกอร์เรีย เลขาธิการใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)
 

กว่า 10 ปีหลังจากที่โลกได้เผชิญกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่เรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติซับไพรมที่เริ่มจากสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางทั่วโลกก็แทบไม่เหลือเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ขณะนี้ แนวโน้มการใช้มาตรการการเงินการคลังสายพิราบ (dovish) เริ่มกลับมาอีกครั้งท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสายพิราบนั้น หมายถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลดอัตราเงินสำรองของธนาคาร และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับกดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว ซึ่งแตกต่างหรือตรงข้ามกับมาตรการสายเหยี่ยว (hawkish) ที่จะรับมือกับเศรษฐกิจด้วยมาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคาร และขายพันธบัตรรัฐบาลออกจากงบดุลเพื่อดูดสภาพคล่องออกจากระบบ

 

OECD ชี้เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำยิงยาว หวั่นธนาคารกลางหมดกระสุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

เกอร์เรียกล่าวในงานประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G20 ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น (28-29 มิ.ย.) ว่า ตอนนี้หลายประเทศแทบจะทุกหนแห่งทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0% หรือใกล้ๆจะ 0% เต็มที และปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า บรรดาธนาคารกลางของหลายประเทศหลักๆส่งสัญญาณแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่แล้ว คงจะต่ำอยู่เช่นนี้เป็นเวลายาวนานต่อไปอีก แต่โลกก็ต้องการนโยบายการเงินการคลังที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าประเทศใดก็ตามที่มีสถานะทางการคลังที่พอจะทำได้ ก็ควรจะต้องใช้งบเพื่อการนี้มากยิ่งขึ้น “แน่นอนว่าบางประเทศจำเป็นต้องควบคุมดูแลเรื่องหนี้สาธารณะ  แต่บางประเทศที่มีศักยภาพมากพอ ก็ควรต้องใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างมีการควบคุม ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปที่จะได้เห็นคือ การใช้นโยบายการคลังที่สอดประสานกัน”