บอร์ดวินัยยันกลไกก.ล.ต.ปิดทางกลั่นแกล้ง

30 มิ.ย. 2562 | 08:48 น.

คณะกรรมการวินัย ก.ล.ต. ลั่นบริสุทธิ์ใจ หลังศาลแพ่งฯ รับฟ้องคดีที่ “ชญานี -ชยันต์” ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 202 ล้านบาท  ยันกลไกก.ล.ต. ปิดทางการกลั่นแกล้ง

จากการที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ (20 มิถุนายน 2562 ) มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่ นางสาวชญานี โปขันเงิน และนายชยันต์ อัคราทิตย์ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 202,585,984 บาท จากคณะกรรมการวินัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำนวน 5 คน ประกอบด้วยนางปวีณาศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ, นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอรส์ (ประเทศไทย)ฯ, นางสุชาดา ภวนานันท์, นายสมจินต์ ศรไพศาล, และนางวชิรา ณ ระนอง จากกรณีที่ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาลงโทษพักการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 1 ปี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560-เดือนสิงหาคม 2561

บอร์ดวินัยยันกลไกก.ล.ต.ปิดทางกลั่นแกล้ง

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ

นางสาวชญานี  โปขันเงิน  ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.คิงส์ฟอร์ดฯ ยืนยันว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าว เป็นไปเพื่อยกระดับการลงโทษทางวินัยแก่บุคลากรในตลาดทุนของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดโปร่งใส ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคล ให้โอกาสและความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และยึดมั่นตามกฎหมายของประเทศ

ทั้งนี้คดีดังกล่าว เป็นคดีต่อเนื่องจากการที่นางสาวชญานีและนายชยันต์เคยฟ้องนายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. ในความผิดตามมาตรา 157  ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งยกฟ้องนายรพี สุจริตกุล กรณีใช้หลักฐานปลอม ตัดสิน สั่งพักงานบุคคลทั้ง 2 เป็นผู้บริหารในตลาดทุนเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2560

ต่อเรื่องนี้นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ชี้แจงกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการวินัยเป็นบอร์ดที่ก.ล.ต.แต่งตั้ง ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่ก.ล.ต.มอบหมาย 

บอร์ดวินัยยันกลไกก.ล.ต.ปิดทางกลั่นแกล้ง

ชญานี  โปขันเงิน

“ยืนยันว่าเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ คณะกรรมการวินัยเป็นผู้รับมอบหมายจากก.ล.ต.ให้แสดงความเห็นในแง่มุมมองของผู้ประกอบการ มุมมองของนักลงทุน ให้มีความหลากหลายประกอบคำวินิจฉัย  ไม่ใช่ผู้ตัดสิน”

ด้านนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทยและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวินัย ก.ล.ต. กล่าวว่ากระบวนการทำงานของคณะกรรมการวินัย มีข้อดีตรงที่สำนักงานก.ล.ต.จะปิดชื่อของผู้ที่ถูกกล่าวหา และปิดชื่อองค์กร  ฉะนั้นด้วยกลไกนี้จะทำให้หลีกเลี่ยงโอกาสการพิจารณาที่ไม่ยุติธรรมได้  ทำให้การทำงานของคณะกรรมการวินัยมีความสบายใจในการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม 

“บอร์ดวินัย เป็นกลไกหนึ่งของก.ล.ต.เพื่อให้มีความรอบคอบระมัดระวัง จึงมีตัวแทนจากสมาคมด้านตลาดเงินตลาดทุนสำคัญๆ อาทิจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบลจ. และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย  เพื่อที่จะให้ได้มุมมองที่ครบถ้วนและมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาตัดสินให้เกิดความยุติธรรม” 

 

 

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบความผิดกรณีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด (มหาชน) (BSEC) และได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ในการตรวจสอบก.ล.ต.พบว่า นางสาวชญานีและนายชยันต์ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้มีการซื้อกิจการ BSEC ได้ให้ถ้อยคำต่อ ก.ล.ต. ในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ถูก ก.ล.ต. ตรวจสอบความผิด 

 

 

โดยบุคคลทั้ง 2 ปกปิดข้อมูลหรือบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับชื่อบริษัทที่จะถูกซื้อกิจการและวันที่เกิดข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและมีผลต่อการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายของ ก.ล.ต. ในความผิดกรณีการใช้ข้อมูลภายใน พฤติกรรมของนางสาวชญานีและนายชยันต์ ซึ่งในขณะที่ให้ถ้อยคำเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ถือเป็นการปกปิดบิดเบือนการให้ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อช่วยเหลือมิให้มีการดำเนินคดีกรณีการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นการขัดขวางการดำเนินการตามกฎหมายของ ก.ล.ต. จึงถือเป็นการกระทำที่เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ทั้งในตำแหน่งผู้บริหารและผู้แนะนำการลงทุนของนางสาวชญานี และนายชยันต์เป็นเวลา 1 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2560 

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับ 3483 วันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2562

บอร์ดวินัยยันกลไกก.ล.ต.ปิดทางกลั่นแกล้ง