ค้าชายแดน 5 เดือน เพิ่ม2.31% มั่นใจ7เดือนที่เหลือยอดยังพุ่ง

28 มิ.ย. 2562 | 08:22 น.

พาณิชย์เผยการค้าชายแดน-ผ่านแดนเติบโตสวนทางส่งออกรวม ยอด 5 เดือน ทำได้มูลค่า 577,391.57 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 2.31% มาเลเซียเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่ง ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้ทำมูลค่าได้สูงสุด เพิ่มขึ้นถึง 46.41% คาดในช่วง 7 เดือนที่เหลือ การค้ายังคงสดใส

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ในช่วง 5 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) ยังคงขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับการส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนที่ขยายตัวติดลบ 2.70% โดยทำได้มูลค่ารวม 577,391ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.31% แยกเป็นการส่งออก 321,338ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.31% และการนำเข้า 256,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.94% เกินดุลการค้า 65,285 ล้านบาท และหากแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 446,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.57% เป็นการส่งออก 262,969 ล้านบาท ลดลง 3.15% นำเข้า 203,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.82% เกินดุลการค้า 59,411 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 110,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.35% เป็นการส่งออก 58,369ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.54% นำเข้า 52,495ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.66% เกินดุลการค้า 5,873 ล้านบาท

 ทั้งนี้ การค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ พบว่า มาเลเซียยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 232,127ล้านบาท ลดลง 0.60% เป็นการส่งออก 109,720ล้านบาท ลดลง 9.38% นำเข้า 122,407 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.85% รองลงมา คือ เมียนมา มูลค่า 84,324 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 82,687 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 67,388.24 ล้านบาท

ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 49,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 46.41% เป็นการส่งออก 20,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.78% นำเข้า 28,844ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.81% รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 33,093 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 28,663 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อภาพรวมของการค้าในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.โดยเฉพาะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก รวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบกำลังซื้อทั่วโลกอย่างชัดเจน และผลกระทบจากสงครามการค้าที่นับวันทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลทำให้การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตแบบชะลอตัว โดยมาเลเซีย การส่งออกหดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งได้รับปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า กอปรกับความต้องการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ด้าน สปป.ลาว มูลค่าการค้าหดตัวลง เนื่องจากการที่จีนหันมาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ มีการชะลอตัวลง สำหรับเมียนมา การส่งออกมีการชะลอตัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่กัมพูชา สถานการณ์การค้ายังคงสดใส การส่งออกขยายตัวถึง 21.56% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์ฯ ในขณะที่การค้าผ่านแดนของไทย มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไปยังจีนตอนใต้ มีการมูลค่าสูงขึ้นถึง 274.05%

อย่างไรก็ตาม กรมฯ คาดว่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีนี้ (มิ.ย.-ธ.ค.) มูลค่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการที่สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน และอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ทั้งการเชื่อมระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และยังได้มีมติให้ผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการค้า และลดผลกระทบจากความตรึงเครียดทางการค้า รวมทั้งได้มีการผลักดันแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย หรือ IMT-GT ที่เน้นย้ำการเร่งสร้างความเชื่อมโยงทุกด้านในอาเซียนให้เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้น