ผ่าโรดแมป เฟส 3 ‘สนามบินดอนเมือง’ 2.7 หมื่นล้าน

28 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
หลังดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 อย่างเป็นทางการ ล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ยังคงเตรียมแผนในการพัฒนาระยะที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมือง (ฉบับปรับปรุง) ที่ล่าสุดบอร์ดทอท.มีมติเห็นชอบต่อแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559

[caption id="attachment_40719" align="aligncenter" width="475"] คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานดอนเมือง คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานดอนเมือง[/caption]

 จัดเต็มงบลงทุน 2.7 หมื่นล้าน

แผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมืองฉบับปรับปรุงนี้ เป็นการปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับ สภาพปริมาณการจราจรทางอากาศ และบทบาทการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองในปัจจุบัน เพื่อวางแผนการพัฒนาท่าอากาศยานให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ และผู้โดยสาร รวมทั้งกิจกรรมทางด้านการบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและพัฒนาให้มีความสมดุลทั้งแอร์ไซด์และแลนด์ไซด์นั่นเอง

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินดอนเมืองในปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวกว่า 40% และยังครองแชมป์สนามบินสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการสำรวจของ Centre for Aviation (CAPA) บริษัทที่ปรึกษาด้านข้อมูลการบินระดับโลกเมื่อปีที่ผ่าน และแนวโน้มการขยายตัวยังคงเห็นสัญญาณดีต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเกิน 40 ล้านคนต่อปี ทะลุไปถึง 50-60 ล้านคนในช่วงปี 2568-2573 (ตารางประกอบ)จากอานิสงส์การขยายเน็ตเวิร์กของสายการบินต้นทุนต่ำ และการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย

นี่จึงเป็นหลักคิดของการพัฒนาตามแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมืองฉบับปรับปรุงนี้ จึงมองการขยายในระยะยาว เพิ่มสเกลการลงทุนที่ใหญ่กว่าแผนเดิม จากเดิมที่วางแผนไว้เพียงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 ที่แผนเดิมคาดว่าใช้งบลงทุนราว 7 พันล้านบาท แต่เมื่อสภาพปริมาณการจราจรทางอากาศของสนามบินดอนเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ดังนั้นแผนการพัฒนา จึงมองระยะยาวขึ้น เพิ่มการลงทุนในการขยายหลุมจอดอากาศยาน รองรับการขยายตัวของโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ และไม่ได้มองเฉพาะการพัฒนาเฉพาะในสนามบินเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการขยายเพื่อเชื่อมต่อกับการเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ที่จะแล้วเสร็จในช่วงปี 2563-2564 รวมถึงการแก้ปัญหาการจราจรภายในสนามบินด้วย เบ็ดเสร็จแผนแม่บทฉบับปรับปรุงนี้จึงมีงบในการพัฒนาปาเข้าไป 27,435 ล้านบาท

[caption id="attachment_40718" align="aligncenter" width="306"] นิตินัย ศิริสมรรถการ  ผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นิตินัย ศิริสมรรถการ
ผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ต่อเรื่องนี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. กล่าวว่าแผนการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 ภายใต้กรอบวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท จะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ดำเนินการปี 2560-2565 วงเงิน 1.9 หมื่นหมื่นล้านบาท ช่วงที่ 2 ดำเนินการปี 2566-2568 วงเงินราว 8 พันล้านบาท ซึ่งแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองในช่วงแรก จะพัฒนาต่อเนื่องจากงานพัฒนาในเฟส 2 ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2558 ดังนั้นในปีนี้จึงจะเป็นการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องของการทุบอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งานในสนามบิน การประสานกับทางดอนเมืองโทลล์เวย์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดการจราจรในสนามบินให้การเข้าออกของแท็กซี่และรถที่เข้ามาในสนามบินเกิดความคล่องตัวและจอดรถได้เพิ่มขึ้น โดยจ้างที่ปรึกษาให้มาช่วยศึกษา เพื่อเตรียมการพัฒนาที่จะเริ่มในปี 2560

  วางไทม์ไลน์ลงทุน 2 ช่วง

สำหรับการพัฒนาใน 2 ช่วงที่จะเกิดขึ้นนั้น ช่วงที่ 1 จะเริ่มลงทุนปี 2560 ทยอยดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565 ซึ่งสิ่งที่จะเริ่มดำเนินการก่อน คือ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ที่ปัจจุบันเป็นอาคารสำหรับรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นอาคารเก่า เฉพาะระบบแอร์ ก็นานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งจะมีการทยอยปิดเป็นส่วนๆ เพื่อปรับปรุงไฟฟ้า แสงสว่าง เคาน์เตอร์เช็กอิน ที่จะปรับให้ระบบ In-Line screening เหมือนการให้บริการของอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2

ทั้งยังจะมีการก่อสร้างขยายหลุมจอดอากาศยานทางด้านทิศเหนือ จากปัจจุบันที่สนามบินดอนเมืองมีอยู่ 101 หลุมจอด จะเพิ่มเป็น 148 หลุมจอด พร้อมทางขับเชื่อมและระบบเติมน้ำมันอากาศยาน งานก่อสร้างอาคาร Junction Building และอาคารจอดรถยนต์ผู้โดยสาร ที่ระยะแรกจะจอดได้ราว 8 พันคัน ซึ่งอาคาร Junction Building จะเป็นอาคารหลังใหม่อยู่ระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังเดิม ส่วนเชื่อมระหว่างอาคาร 2 กับสกายวอล์ก เพื่อสร้างเป็นอาคารเชื่อมของสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง ที่จะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดง งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานสำหรับกิจการการบิน General Aviation งานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ พร้อมติดตั้งสะพานเทียบ 3 ชุด งานปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 (Pier 6) การปรับปรุงระบบถนนภายในสนามบิน งานปรับปรุงระบบระบายน้ำภายในสนามบิน

ขณะที่การลงทุนในช่วงที่ 2 จะเริ่มในปี 2566 แล้วเสร็จปี 2568 จะเป็นเรื่องการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และสายการบิน ที่จะมีงานปรับปรุงและก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน งานก่อสร้างลานจอด อีก 2 พันคัน ทางด้านทิศใต้ของสนามบิน บริเวณคลังสินค้าที่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงงานก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อภายในสนามบิน ที่จะเป็นรูปแบบระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ที่จะนำรถไฟโมโนเรล มาให้บริการเชื่อมระหว่างอาคารทางด้านทิศใต้ มาจนถึงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1

 บริหารจัดการรับได้ทะลุ 50 ล้านคน

อย่างไรก็ตามการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 ที่จะเกิดขึ้นนี้ แม้เป้าหมายของการพัฒนา ทอท.ต้องการคืนสภาพขีดความสามารถเดิมของสนามบินกลับมา คือ รองรับเที่ยวบินได้ 40-50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นไปตาม EIA (การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม)ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างสนามบินก็จริง แต่ด้วยสภาพการไหลเวียนของผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินดอนเมือง มีความแตกต่างจากในอดีตมาก ทำให้ทอท. จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการการรองรับผู้โดยสารทะลุไปถึง 50 ล้านคนต่อปีได้

เนื่องจากในอดีตก่อนที่เปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินดอนเมืองส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องระบบตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากร มาเกี่ยวข้อง ทำให้การให้บริการผู้โดยสารจะอยู่ที่ราว 2 ชั่วโมง แต่เมื่อมีการเปิดใช้บริการสนามบินดอนเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง กลับพบว่าการใช้บริการของสนามบินดอนเมืองส่วนใหญ่ จะเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ ที่ไม่ได้มีกระบวนการใดๆมาก ทำให้การไหลเวียนของผู้โดยสารจะใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งปัจจุบันหลังเสร็จสิ้นการพัฒนาสนามบินในเฟส 2 สนามบินดอนเมืองขณะนี้รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี โดยอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ที่รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ รับได้ 8 ล้านคนต่อปี ขณะที่อาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 ที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ รับได้ 22 ล้านคนต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2:1

นอกจากการพัฒนาศักยภาพของสนามบินแล้ว ทอท.ยังมีแผนจะส่งเสริมให้สายการบินต่างๆ หันมาเปิดเที่ยวบินในช่วงเวลาไม่คับคั่ง(ออฟพีก) ในช่วงเวลา 24.00 -5.00น. ซึ่งจะให้ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยาน 95% สำหรับเที่ยวบินประจำ และส่วนลด 50% สำหรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2559- 31 มีนาคม 2561 เพื่อจูงใจให้สายการบินมาเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดจุดบินในช่วงเวลาเหล่านี้

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 ที่จะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559