วังวนนี้ไม่จบสิ้น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าฯ

26 มิ.ย. 2562 | 07:40 น.

นี่ก็หนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ซับซ้อน จนเกิดเป็นประเด็นขัดแย้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริง ระหว่างรัฐและประชาชนจนนำมาสู่ความขัดแย้งไม่จบสิ้น

 

ต้องไม่ลืมว่าหลายสิบปีเราอยู่ในวังวนนี้ นั่นก็คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐประกาศพื้นที่ทับซ้อน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 

 

ประเด็นในเรื่องนี้มีให้เห็นกันอยู่ระยะๆ หลายพื้นที่ของประเทศไทย   ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ชาวบ้านได้เอกสารสิทธิในการครอบครองที่ดินจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถที่จะออกเอกสารสิทธิในการครอบครองที่ดินได้ จนนำมาซึ่งการตรวจสอบและพบปัญหาการทุจริตมากมายจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกเอกสาร 

 

แต่สุดท้ายความเดือดร้อนก็ตกอยู่กับประชาชน ที่ได้ปรับปรุงที่ดินดังกล่าวเป็นสถานบริการ เช่นโรงแรม หรือรีสอร์ต แต่ต่อมากลับถูกไล่พื้นที่ เพราะเอกสารที่เจ้าหน้าที่รัฐจัดทำขึ้นนั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

แน่นอนว่าการดำเนินการของเอกชน ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นแล้ว ต่อให้มีการรื้อทำลายสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ตาม ซึ่งปัญหาหลักของกรณีนี้น่าจะมาจากเรื่องคอร์รัปชัน

วังวนนี้ไม่จบสิ้น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าฯ

 

อย่างที่เราเห็นในหลายกรณี ปัญหาเกิดขึ้นจากการขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐในการประสานงานเพื่อให้ได้ความชัดเจน ก่อนจะดำเนินการออกเอกสารทางการใดๆ ให้กับภาคเอกชน 

 

นี่ก็อีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น คือกรณีที่เขตประทานบัตรของบริษัทศิลาสามยอด จำกัด ที่ไปอยู่ในพื้นที่ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่งก็เป็นข้อศึกษาหนึ่ง   ซึ่งในข้อเท็จจริงบริษัทศิลาสามยอดฯ ได้รับอนุญาตจากรมป่าไม้ให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง 

 

ประทานบัตรดังกล่าวทางบริษัทได้รับไว้ตั้งแต่กันยายน 2555 แต่กรมอุทยานแห่งชาติ ได้มาประกาศให้พื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 2พฤศจิกายน2559ซึ่งเป็นช่วงหลังจากบริษัทศิลาสามยอดฯ ได้รับประทานบัตรไปเรียบร้อยแล้ว 

 

จะเห็นได้ว่าการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ในพื้นที่ที่มีประทานบัตร จะทำให้ผู้ได้รับประทานบัตรมีความผิดเป็นการละเมิดกฎหมายอีกฉบับหนึ่งได้ กรณีนี้จึงได้มีการปรึกษาไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อที่จะหาทางออก โดยจะให้ผลของการบังคับให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้ามล่าสัตว์มีผลก็ต่อเมื่อประทานบัตรที่ทางบริษัทได้รับหมดอายุลง 

 

หากไม่หาช่องทางในการแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวก็จะกลายเป็นว่าภาคเอกชนจะเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งที่หน่วยงานหนึ่งอนุญาตให้ดำเนินการได้ แต่หน่วยงานรัฐอีกหน่วยงานหนึ่งกลับมาออกประกาศในภายหลัง 

 

แน่นอนว่าจะกระทบกับสิทธิของเอกชนผู้ได้รับประทานบัตร 

 

กรณีนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าหลายต่อหลายครั้งที่ภาคเอกชนต้องมาเสี่ยงที่อาจต้องรับผลกระทบจากการทำงานที่ไม่ละเอียดรอบคอบ หรือการประสานงานที่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ 

วังวนนี้ไม่จบสิ้น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าฯ

อย่าลืมว่าฝ่ายที่มีฐานะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งจากรัฐได้ทุกเมื่อ

 

อย่างไรก็ดีปัญหาเหล่านี้จะลดลงได้ หากหน่วยเหนือคอยสอดส่อง ควบคุม และมีมาตรการจัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการแล้วส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

 

ใช่เราอาจเลี่ยงการทำเหมืองแร่ไม่ได้  แต่กฎหมายต้องให้หลักประกันได้ว่าจะมีความชัดเจนเกิดขึ้น ซึ่งกว่าที่เอกชนจะได้ประทานบัตรนั้น ปัจจุบันขั้นตอนไม่ง่ายนัก เนื่องจากมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องอีกทั้งประชาชนรับทราบข้อมูลและต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นและต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งรวมทั้งการใช้หลักของมนุษยธรรมมาพิจารณา

 

อย่างที่บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง  การแก้ไขปัญหากรณีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่งทับซ้อนกับเขตประทานบัตรของบริษัทศิลาสามยอด จำกัด ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) มีข้อสังเกตตอนหนึ่งว่า  ปัญหาส่วนหนึ่งของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความล่าช้าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการประกาศกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และการขาดการประสานข้อมูลระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ 

 

ซึ่งถ้ากรมป่าไม้ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมและรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบก่อนการอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ปัญหาดังกล่าวก็จะลดน้อยลง  

 

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหากรณีนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรจะได้ตรวจสอบขนาดของพื้นที่ที่ทับซ้อนโดยละเอียดอีกครั้งเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบว่า การคงพื้นที่ตามข้อหารือนี้ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหรือการเพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเพื่อให้มีการทำเหมืองแร่ 

 

กรณีใดจะเกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่ากัน โดยต้องพิจารณาถึงการพัฒนาประเทศในลักษณะที่มีความยั่งยืนเพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศชาติ และอนุชนรุ่นหลังต่อไปด้วย