The Best Seven of Gold 7 ความเป็นที่สุดของทองคำ (2019 YTD)

27 มิ.ย. 2562 | 00:36 น.

 

 

ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

 

 

ราคาทองคำในระยะนี้กลับมาเคลื่อนไหวหวือหวาอีกครั้ง แม้ไตรมาส 1 ราคาทองคำจะซบเซาจากความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่คลี่คลาย แต่แล้วสถานการณ์ก็แปรเปลี่ยนไปในช่วงกลางไตรมาส 2 หลังจากที่สหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน นอกจากนี้สหรัฐฯยังได้ประกาศแบนบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีฯของจีน ทำให้ทางการจีนหารือเกี่ยวกับการใช้แร่แรร์เอิร์ธ (Rare-earth) เป็นตัวเลือกในการตอบโต้สหรัฐฯ ข่าวความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯทำให้นักลงทุนกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงแรงจนกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและทำให้ทองคำกลับมาเคลื่อนไหวเหนือ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์อีกครั้ง

The Best Seven of Gold  7 ความเป็นที่สุดของทองคำ (2019 YTD)

แต่ข่าวสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากจนส่งผลหนุนราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่ออีกกว่า 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ในการประชุมวันที่ 18-19 มิถุนายนที่มีการส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต บวกรวมกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านที่ปะทุขึ้น หลังจากโดรนของทางกองทัพสหรัฐฯได้ถูกขีปนาวุธของอิหร่านโจมตีซึ่งช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติมจนราคาทองคำทะยานขึ้นต่อเนื่อง เราเลยได้เห็นสถิติใหม่ๆที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายสิ่ง วันนี้ YLG จึงรวบรวมสถิติเหล่านั้นมาให้นักลงทุนรับทราบกัน

ที่สุดแรก คือ  ทองคำในตลาดโลก(Gold Spot) แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีบริเวณ 1,411 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ที่สุดที่ 2 คือ  ทองคำในประเทศขึ้นทะลุ 20,000 บาทต่อบาททองคำเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018 และปรับตัวขึ้นต่อไปแตะระดับสูงสุด
บริเวณ 20,450 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 หรือในรอบ 1 ปี 8 เดือน

ที่สุดที่ 3 คือ  ค่าเงินบาทแตะระดับแข็งสุดในรอบ 6 ปี บริเวณ 30.59 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมไปถึงกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร สาเหตุนี้เองจึงทำให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นน้อยกว่าราคาทองคำในตลาดโลก

ที่สุดที่ 4 คือ  ราคาทองคำในตลาดโลกปิดตลาดในรายสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 กรกฎาคม ด้วยการปรับตัวสูงขึ้นกว่า +4% จึงถือว่าเป็นการปรับตัวขึ้นในรายสัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบ 3 ปี

ที่สุดที่ 5 คือ  กองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่มในวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2019 ถึง +34.93 ตัน สู่ระดับ 799.03 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณการถือครองทองคำเพิ่มในวันเดียวที่มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2009 ทำให้กระแสเงินทุนจากที่เคยเป็นลบในปีนี้กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (21 มิ.ย.19) กองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น +11.36 ตัน

ที่สุดที่ 6 คือ สถานะสัญญาฟิวเจอร์ส COMEX ทองคำในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2019 เป็นสถานะซื้อสุทธิถึง 150,516 สัญญา ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดในรอบกว่า 1 ปี 3 เดือน หรือนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 6 มีนาคม 2018 บ่งชี้ถึงแรงเก็งกำไรในทิศทางบวกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหมู่นักเก็งกำไร

ที่สุดที่ 7 คือ  ธนาคารกลางจีนเพิ่มการถือครองทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ทำให้ในช่วง 6 เดือนตั้งแต่ ธันวาคม 2018-พฤษภาคม 2019 จีนถือครองทองคำเพิ่มถึงเกือบ 74 ตัน

 

 

ท่ามกลางปัจจัยสนับ สนุนสำคัญอย่างแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินจากธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะเฟด ซึ่งเพิ่มความน่าดึงดูดของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมไปถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ยังไม่นับรวมแรงซื้อจากธนาคารกลาง,  ETF ทองคำ และแรงเก็งกำไรในตลาดฟิวเจอร์ส COMEX เหล่านี้อาจช่วยผลักดันให้ทองคำเดินหน้าทำสถิติใหม่ๆได้ อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพราะหากสถานการณ์บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปก็ยังมีโอกาสที่ราคาทองคำถูกแรงขายทำกำไรสลับออกมาเช่นกัน 

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3482 วันที่ 27-29 มิถุนายน 2562

The Best Seven of Gold  7 ความเป็นที่สุดของทองคำ (2019 YTD)