JIM THOMPSON (1)

27 มิ.ย. 2562 | 11:19 น.

JIM THOMPSON ชื่ออเมริกัน แบรนด์ไทย บุกเบิกผ้าไหมท้องถิ่นสยามสู่สากล นำ PRODUCTS : THAI SILK อวดโฉมขึ้นชั้นว่าไม่แพ้ ผ้าไหมหรูเลิศประเทศใดในหล้า เป็นของฝาก ของบรรณาการชั้นดีให้กับลูกค้าต่างประเทศ หรือแม้ “ผู้นำ” ประมุขประเทศ

ก็ต้องยกย่อง MR. JAMES HARRISON WILSON THOMPSON ชาวอเมริกัน อดีตนายทหารผ่านศึก (สงครามโลกครั้งที่ 2) ที่เคยร่วมทำงานกับเสรีไทยในการปลดปล่อยประเทศไทยจากการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น

เมื่อสงครามยุติและหลังการหย่าขาดจากภรรยา MR. JIM THOMPSON ตัดสินใจในวัย 40 ปีต้นๆ ทิ้งโลกและชีวิตที่คุ้นเคยในสหรัฐอเมริกา มาตั้งรกรากในประเทศไทย โลกใหม่

JIM THOMPSON เริ่มการลงทุนกับกลุ่มนักลงทุนซื้อโรงแรม THE ORIENTAL HOTEL มาปรับปรุงใหม่ (และระหว่างทางเกิดมีความเห็นไม่ลงรอยลงตัวกับหุ้นส่วน เลยตัดสินใจขายหุ้นที่มีทิ้ง) นับเป็นโชคดีกับอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย (ในเวลาต่อมา) ที่ JIM THOMPSON หันมาสนใจและพัฒนา “ผ้าไหม” โดยที่มีคุณวุฒิเป็นสถาปนิกและความชอบส่วนตัวที่สะสมผ้าและงานศิลปะสวยงาม จากหลายประเทศที่เคยไปทำงานไปเยี่ยมเยียน

 

ปี ค.ศ. 1948 JIM THOMPSON ร่วมกับ GEORCE BERRIE ก่อตั้งบริษัท THAI SILK COMPANY LIMITED ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 25,000 US DOLLARS ทั้งสองถือหุ้นคนละ 18% ที่เหลือแบ่งให้นักลงทุนไทย-เทศที่สนใจ (แม้แต่ช่างปั๊มนํ้าที่มาทำงานให้ JIM THOMPSON ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น)

JIM THOMPSON (1)

ในช่วงเริ่มต้นไม่ได้เป็นงานง่ายเลย ดูไม่มีอนาคต (เมื่อเทียบกับการลงทุนในโรงแรม THE ORIENTAL) เพราะอาชีพทอผ้าไหมเริ่มเสื่อม งานศิลปหัตถกรรมที่ถูกถ่ายทอดเป็นร้อยๆ ปี จากจีนสู่ชาวบ้าน SOUTHEAST ASIAN (ในไทยเริ่มตั้งแต่ยุคสุโขทัย) เริ่มซบเซา

ต้นศตวรรษที่ 20 งานทอผ้าด้วยมือโดนตีด้วยผ้าทอถูกๆจากเครื่องจักรของยุโรปและญี่ปุ่น แถมผู้ดีมีเงินไทยหันไปนิยมแฟชั่นเสื้อผ้าจากตะวันออก ก็ต้องยกย่อง “ชุมชนบ้านครัว” ที่ยังพอเหลือ “สมาชิก” ที่ยังรักษาศิลปหัตถกรรมการทอผ้าไหมอยู่บ้าง ด้วยความที่เป็น “มุสลิม” จากกัมพูชา มาอาศัยประเทศไทยเมืองพุทธ (95%) ชาวชุมชนบ้านครัวผูกกันเหนียวแน่นด้วยความเคร่งในศาสนา

แต่เวลานั้นก็เริ่มถอดใจกับอาชีพการทอผ้าไหม ด้วยเห็นโลกที่เปลี่ยนไป คำพูดปลอบใจที่ว่า ตลาดในประเทศคนไทยไม่นิยมแล้ว เราผลิตไปขายประเทศตะวันตกกันเถิด ชาวบ้านที่ตามข่าวโลกก็หวั่นว่า ไม่ช้าญี่ปุ่นก็จะฟื้นจากการแพ้สงคราม อุตสาหกรรมผ้าไหมที่เคยยิ่งใหญ่ของเขาก็น่าจะเข้าไปครองตลาดต่างประเทศที่เป็น “เป้าหมาย” ได้เหมือนเดิม

 

“อะไร” คือ “อนาคต” ของอาชีพทอผ้าไหมในยุคหลังสงครามโลก

ถ้าจะว่าไป คุณจิม ทอมป์สัน  นับเป็นบุคคลที่ “ฟ้า” ส่งมาเกิดให้ “ผ้าไหมไทย” ยังอยู่บนเวทีโลก และอยู่ได้ในระดับแนวหน้า

JIM THOMPSON (1)

คุณวุฒิที่ไม่ธรรมดาจากการศึกษา SCHOOL OF ARCHITECTURE ของ U OF PENNSYLVANIA (แม้ไม่จบ) ความชอบส่วนบุคคลด้านศิลปะ เคยอยู่ใน BOARD ของ BALLET RUSSE DE MONTE CARLO สะสมงานศิลปะดีๆ ทั่วโลก

ที่สำคัญหลงใหลในความงามของ “ผ้าไหมไทย” ทั้งสีสัน ลาย และ TEXTURE

CONNECTION ดีๆ ที่ MR. JIM THOMPSON ได้จาก PRINCETON UNIVERSITY OF PENNSYLVANIA กองทัพอเมริกัน องค์การ CIA Etc. ล้วนมีส่วนในธุรกิจ

หนึ่งในผู้บันดาลใจให้ “คุณจิม” ลงทุนธุรกิจผ้าไหมไทย คนสำคัญน่าจะเป็น MR. JAMES SCOTT ทูตพาณิชย์สหรัฐฯประจำประเทศไทยขณะนั้น

(ตอนหน้าจะมาดูว่า JIM THOMPSON สร้าง BRAND THAI SILK ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกได้อย่างไร) 

คอลัมน์ : กฤษณ์ ศิรประภาศิริ ([email protected])

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3482 ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2562