ก.ล.ต.ออกโรงเตือน ระวังถูกชักชวนลงทุนใน Libra

23 มิ.ย. 2562 | 06:10 น.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยืและตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ออกบทความเรื่อง  “Libra”– จับตา“ก้าวที่กล้า” ของ Facebook” โดยนายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. และทีมโฆษก ก.ล.ต. โดยมีใจความว่า ต้องเรียกว่า Libra เป็น “ก้าวที่กล้า” ของ Facebook และพันธมิตรในการพยายามนำคริปโทฯ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เป็นระบบชำระเงินหลักของคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้คนที่เดิมไม่มีบัญชีธนาคาร / ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ โดยจะมีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำมาก และสามารถทำธุรกรรมต่างๆ แม้กระทั่งธุรกรรมระหว่างประเทศได้ด้วยความรวดเร็ว  โดยหลักการแล้ว หากเรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง โดยมีการจัดการข้อกังวล / ความเสี่ยงต่าง ๆ และมีการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม (ขอเน้นตรงนี้หนัก ๆ อีกครั้งนะครับ) ก็คงจะเป็นประโยชน์และช่วยพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงิน  รวมทั้งทำให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีนี้ได้ไม่น้อยเลยครับ


 

ก.ล.ต.ออกโรงเตือน ระวังถูกชักชวนลงทุนใน Libra

               ที่ผ่านมา หนึ่งในข้อจำกัดของคริปโทฯ อย่าง Bitcoin ที่ทำให้ยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในชีวิตประจำวันแบบวงกว้างเท่าเงินตราที่เราคุ้นเคยกันก็คือ มูลค่าที่ค่อนข้างผันผวน ในประเด็นนี้ Libra ได้พยายามสร้างกลไกมาจัดการด้วยการมีตะกร้าของเงินฝากและหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออก โดยรัฐบาลสำรองไว้เต็มจำนวนสำหรับทุก ๆ 1 Libra ที่สร้างขึ้นมา หรืออาจเรียกได้ว่า Libra เป็น “stable coin” นั่นเองครับ (หมายถึงคริปโทฯ ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง)

 

ขณะเดียวกัน Facebook ก็จะตั้งอีก 1 บริษัทที่ชื่อ “Calibra” เพื่อเป็นผู้ให้บริการ wallet สำหรับผู้ประสงค์จะใช้ Libra ซึ่งนอกจากการใช้จ่ายผ่าน app ของ Calibra แล้ว ได้ยินว่า Libra ยังจะไปผูกกับ messaging apps ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกอย่าง Facebook Messenger และ Whatsapp อีกด้วย เรียกได้ว่า Facebook พยายามทำให้ใช้ Libra ทำธุรกรรมได้สะดวกเหมือนเราส่งข้อความหากันตอนนี้ เลยทีเดียวครับ 

ก.ล.ต.ออกโรงเตือน ระวังถูกชักชวนลงทุนใน Libra

               อ่านมาถึงตรงนี้ หากทุกท่านลองนึกภาพตามที่ผมเล่าคร่าว ๆ ข้างต้น คงพอเห็นทั้งความเป็นไปได้และผลกระทบที่กว้างไกลของสิ่งที่ Facebook กำลังเสนอแล้วใช่ไหมครับ  และคงพอเริ่มนึกออกแล้วด้วยว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกถึงจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด  เพราะฉะนั้นจากโหมดประชาชนผู้ใช้บริการ ผมขอชวนทุกท่านลองเปลี่ยนมาสวมหมวกหน่วยงานกำกับดูแลกันสักครู่ครับ 

 

ต้องยอมรับว่าคริปโทฯ รวมทั้ง stable coin อย่าง Libra เป็นความท้าทายของระบบการกำกับดูแลทั่วโลกเลยทีเดียวครับ ตั้งแต่ความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลในการติดตามตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ที่ผู้คนทำระหว่างกันเองโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือหรือจุดเกาะเกี่ยวสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลใช้เป็นหลักมาถึงปัจจุบัน  แถมธุรกรรมยังเป็นแบบไร้พรมแดน ก็จะมีประเด็นเรื่องอำนาจในการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งอาจไม่เท่าเทียมและไม่สอดคล้องกันเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง  แถมเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่มีพัฒนาการรวดเร็ว ผู้กำกับดูแลเองก็อาจยังไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอหรือเท่าทันกับพัฒนาการเหล่านี้  รวมทั้งยังไม่มีมาตรฐานสากลหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้ยึดเป็นหลักได้อีก ขณะเดียวกัน ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลเพิกเฉย ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยไม่วางแนวทางจัดการข้อกังวลและความเสี่ยงต่าง ๆ  รวมทั้งหาวิธีใช้บังคับกฎหมายกฎเกณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงไม่สามารถเรียกได้ว่า หน่วยงานนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่แล้ว  และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลยครับหากเกิดปัญหาที่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือประชาชนในวงกว้าง 

               อ่านแล้วทุกท่านเริ่มเห็นความกังวลและความท้าทายที่หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ เผชิญอยู่  รวมทั้งเห็นความจำเป็นที่ทำให้หลาย ๆ หน่วยงานมีท่าทีระมัดระวังและติดตามพัฒนาการในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดหรือยังครับ

               สำหรับประเทศไทย เรามีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลในเรื่องนี้ โดยมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว  จึงมีความเกี่ยวข้องกับ Libra ที่เป็นคริปโทฯ ในบางส่วน กล่าวคือ หากในอนาคตมีผู้ใดประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับ Libra ในฐานะศูนย์ซื้อขาย (exchange) นายหน้า (broker) หรือผู้ค้า (dealer) ก็ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. ก่อนนะครับ 

ก.ล.ต.ออกโรงเตือน ระวังถูกชักชวนลงทุนใน Libra

               ทีนี้คงมีหลายท่านสงสัยว่า ในโลกไร้พรมแดน (borderless) อะไรที่เรียกว่า เป็นการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับในประเทศไทย ซึ่งขอเรียนว่า ในเรื่องนี้ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยและต้องดูข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีนะครับ แต่หลัก ๆ ก็ต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งมาดำเนินการในประเทศไทยด้วย ดังนั้น หากท่านเข้าไปในเว็บไซต์หรือสื่ออื่น ๆ เพื่ออ่านข้อมูลหรือชมคลิปที่ชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยดำเนินการอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด ก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ที่ ก.ล.ต. ดูแลนะครับ ในบริบทของการทำธุรกรรมที่มีลักษณะข้ามพรมแดนหรือไร้พรมแดน จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสิ้น ไม่ใช่มีแต่เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น  ที่สำคัญ ขออนุญาตเรียนทุกท่านให้ใช้ความระมัดระวังหากมีใครชักชวนให้ท่านลงทุนโดยอ้างว่าเป็นการร่วมลงทุนใน Securities Token Offering (STO) ของ Libra  Association หรือเหรียญชื่อ Libra Investment Token โดยอ้างว่าเป็นโอกาสร่วมลงทุนกับ Facebook หรือพันธมิตรต่าง ๆ นั้น ขอให้ระวังมาก ๆ นะครับ เพราะคนทั่วไปคงไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนนี้ได้ครับ  นอกจากนี้ กรณีคริปโทฯที่เป็น stable coin อาจจะมีประเด็นเกี่ยวพันกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ด้วย ซึ่ง ก.ล.ต. จะติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้ประสานงานกับบางหน่วยงานไว้แล้วครับ

               ก.ล.ต.ออกโรงเตือน ระวังถูกชักชวนลงทุนใน Libra