ฟื้นฟูรถขสมก.3,000คัน ซื้อ‘ไฮบริด-พลังไฟฟ้า’ให้บริการ

25 มิ.ย. 2562 | 23:40 น.

ขสมก. ดันแผนฟื้นฟูระบบขนส่งมวลชนให้บริการประชาชน กว่า 3,000 คัน พลิกโฉมรถเก่าฮีโร่ปรับอากาศ 323 คันให้เป็นรถใหม่ 130 ล้านบาท “ประยูร” ยัน 1 ปีแล้วเสร็จ จัดซื้อรถระบบไฮบริด รถเมล์พลังไฟฟ้า รวมกว่า 2,000 คันด้านสหภาพหนุนจัดหาคนขับรองรับให้เพียงพอ ประเดิม 4 เขตเดินรถที่ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี

นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าอยู่ระหว่างเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟู การจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน จัดซื้อรถระบบไฮบริดอีก 2,000 คัน จัดซื้อรถเมล์ใช้พลังงานไฟฟ้า 200 คัน และด้านการซ่อมบำรุงปรับปรุงรถเก่าฮีโน่ปรับอากาศจำนวน 323 คันให้เป็นรถคันใหม่ออกให้บริการประชาชนในเส้นทางต่างๆ

โดยขณะนี้การปรับปรุงรถเก่าจำนวน 323 คันได้จัดหาผู้ดำเนินการปรับปรุงรถทั้งหมดได้แล้ว หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก็พร้อมเดินหน้าต่อเนื่องจากเรื่องดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดขสมก.เรียบร้อยแล้วเตรียมพร้อมลงนามสัญญาเร่งดำเนินการได้ทันที

 

“ใช้รถปรับอากาศยูโรทูสีเหลืองไปดำเนินการ เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จจะออกมาใน โทนสีฟ้าขาวนวลสบายตามากขึ้น ปรับเปลี่ยน ทั้งเบาะหนังที่นั่งสบาย เครื่องยนต์จากใช้ระบบนํ้ามันดีเซลมาเป็นระบบก๊าซเอ็นจีวีที่ได้รับงบจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปดำเนินการ ติดตั้งกล้อง ซีซีทีวี ระบบปรับอากาศ ขณะนี้ต่อรถต้น แบบเสร็จแล้ว 1 คันออกทดลองให้บริการได้แล้ว ตั้งเป้าไว้ว่าจะซ่อมบำรุงให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 1 ปีเน้นใช้บริการเส้นทาง ที่มีปั๊มก๊าซเอ็นจีวีให้บริการ”

ฟื้นฟูรถขสมก.3,000คัน ซื้อ‘ไฮบริด-พลังไฟฟ้า’ให้บริการ

ด้านนายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขสมก. (สร.ขสมก.) กล่าวว่าโครงการนี้สหภาพผลักดันมานานแต่ไม่มีความคืบหน้า รวมรถตามแผนฟื้นฟูจะไม่เกิน 3,000 คัน รถที่ปรับปรุงแล้วเสร็จมีแผนจะนำไปให้บริการเส้นทางต่างๆ ในเขต 1 เขต 2 เขต 3 เขต 5 ที่มีปั๊มเอ็นจีวีเปิดให้บริการในอู่แต่ละเขต จากนั้นจะโยกเอารถเอ็นจีวีไปให้บริการในเขตอื่นๆ ต่อไป ส่วนรถไฮบริดไปไว้ในเขต 4 ซึ่งไม่มีปั๊มเอ็นจีวีให้บริการ

“รถใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์ โดยรถที่ปรับปรุงใหม่จะเป็นอีกหนึ่งโฉมใหม่ของรถขสมก.ให้บริการ ยังเน้นใช้รถปรับอากาศ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพนักงานขับรถมีไม่เพียงพอ หากมีรถคันใหม่เข้ามาให้บริการจะต้องเร่งจัดหาคนขับอีกประมาณ 500-800 คน ซึ่ง จะเป็นอุปสรรคในอนาคตเนื่องจากเป็นงานที่ใช้ทักษะและประสบการณ์เฉพาะตัว รายได้เริ่มต้น 11,100 บาทหากรวมรายได้อื่น อาทิ เบี้ยเลี้ยง เปอร์เซ็นต์หน้าตั๋ว ค่าล่วงเวลาจะอยู่ในอัตรา 2 หมื่นบาทต่อคน ส่วนการจัดเก็บค่าโดย สารยังใช้พนักงานพร้อมกับเครื่อง EDC ที่ขสมก. ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยสำหรับรองรับผู้มีบัตร รายได้น้อย ล่าสุดพบปัญหาใหม่เครื่อง EDC แบตไม่เพียงพอใช้งานได้ตลอดวันจึงต้องเร่งจัดหางบซื้อแบตสำรองให้เพียงพอต่อไป” 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3481 ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2562