การบ้านร้อนๆ กระทรวงพลังงานท้าทาย 'ประยุทธ์' ยอมหักไม่ยอมงอ

21 มิ.ย. 2562 | 10:29 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ โดย...กระบี่เดียวดาย

 

การบ้านร้อนๆ กระทรวงพลังงาน

ท้าทาย 'ประยุทธ์' ยอมหักไม่ยอมงอ

 

          เป็นที่ฮือฮาเกรียวกราวสะท้านไปถึงทำเนียบรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์อยู่บนภู พยายามส่องให้เห็นว่า ทำไมบรรดา ส.ส.กลุ่มก๊วนต่างๆ ถึงต้องแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงานมาไว้ในครอบครองให้จงได้ จนถึงขณะนี้แม้มีการส่งชื่อไปถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมิวายมีความพยายามต่อรอง สร้างแรงกดดัน ปล่อยข่าว หวังให้เปลี่ยนเป็นชื่อของตัวเอง

          วันนี้จะไล่เลียงดูต่อเนื่อง เรื่องร้อนๆ ในมือรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ที่ต้องสนใจมีอะไรกันบ้าง

          อันแรกว่าด้วยเรื่องของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา แต่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ยังทบทวนได้ หลังเอกชน ผู้ประกอบการ เรียกร้องให้มีการทบทวนใหม่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการมุ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงมากเกินไป โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง ไปยังเชื้อเพลิงอื่น เช่น ถ่านหิน ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในปริมาณที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อค่าไฟฟ้า

          การทบทวนพีดีพียังมีประเด็นโครงการโซลาร์ภาคประชาน 10,000 เมกะวัตต์ ในระยะ 20 ปี ที่ส่งเสริมให้บ้านอยู่อาศัยติดตั้งโซลาร์เซลล์ และขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ปีละ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งปฏิบัติค่อนข้างยาก เนื่องจากปริมาณการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแต่ละหลังไม่มาก เฉลี่ยติดตั้งเพียง 2-3 กิโลวัตต์ต่อหลังเท่านั้น จึงมีการเรียกร้องให้แบ่งสัดส่วนไปเปิดเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม และขยายไปหลังคาอาคาร และโรงงานได้ นอกจากหลังคาบ้าน

          มีประเด็นสำคัญเรื่องการอนุมัติให้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่น ซึ่งส่อขัดหลักการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ หรือ ไอพีพี หรือไม่

 

 

          โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้ให้อำนาจเต็มคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องกลับมานำเสนอ กพช. ซึ่งไม่มีการแข่งขัน เพื่อให้ได้ค่าไฟฟ้าตํ่าสุด และยังเปิดทางให้บริษัท ราช กรุ๊ปฯ หาพันธมิตร ที่เป็นเอกชนรายใหม่เข้ามาถือหุ้นใน 2 โรงไฟฟ้านี้ได้ จะเป็นโครงการที่เข้าทางใครหรือไม่

          ยังมีปมร้อนในการอนุมัติให้ กฟผ.ทำสัญญากับผู้ชนะประมูลจัดหา LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2562 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569 ตรงนี้อาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในสัญญากรณีไม่สามารถรองรับก๊าซได้ตามสัญญาหรือไม่ และการนำเข้าแอลเอ็นจี ของกฟผ.มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท จะกระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชนหรือไม่

          นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (GAS) เพื่อผลิตไฟฟ้าว่าจะมาจากแหล่งใด โดยเฉพาะหลังจากที่แหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช สิ้นสุดสัมปทานในปี 2565-2566

          จะเห็นว่าแต่ละโครงการแต่ละเรื่องข้อวินิจฉัยสั่งการของรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ชี้เป็นชี้ตายในธุรกิจมูลค่ามหาศาลได้ เมื่อสำคัญมากมายขนาดนี้ จึงทำให้ตำแหน่งนี้แม้ขึ้นไปถึงนายกฯ แล้วก็ยังไม่นิ่งตำแหน่งนี้จึงมีนักการเมืองผู้ชํ่าชองประเภทเขี้ยวลากดิน ที่พยายามทำการบ้าน โดยวาดหวังได้นั่งตำแหน่งล่วงหน้า ด้วยการส่งคนชื่อ สท.” อดีตผู้บริหารบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่แห่งหนึ่ง ไปเดินสายเจรจากับผู้ประกอบการที่จะขายไฟฟ้าให้หลวง เจรจากันอีท่าไหน คนในแวดวงพลังงานเริ่มหนาวยะเยือกกันแล้วตั้งแต่กลางฤดูฝน ว่ากันเป็นกิโลฯ ว่ากันเป็นเมกะวัตต์หรือไม่ ไม่แน่ใจว่าใช้วิธีที่นักการเมืองในอดีตนิยมทำโดยการเขียนใส่ฝ่ามือหรือไม่

          สท.คนนี้ยังเคยเข้าไปนั่งในระหว่างการประชุมบอร์ดการรถไฟ ในอดีตและคอยสั่งการให้บอร์ด ผู้ว่า ดำเนินการโน่น นี่ นั่น ประวัติคนนี้โชกโชนเป็นที่ยิ่ง เมื่อบริษัทรายใดจะทำธุรกิจกับรัฐ ถึงกับต้องแลกกับการให้ตัวเขาได้เข้าไปนั่งในบริษัท ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่เป็นภาระบนบ่าประชาชนผู้ใช้พลังงาน ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นปัจจัยท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยอมหัก ไม่ยอมงอหรือไม่ ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน