เปิดไฮไลต์ “แถลงการณ์อาเซียน” ต้านกีดกันการค้า หนุนเจรจาเกาหลีเหนือ

21 มิ.ย. 2562 | 04:00 น.

เปิดไฮไลต์ “แถลงการณ์อาเซียน” ต้านกีดกันการค้า หนุนเจรจาเกาหลีเหนือ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. 2562 ประเทศไทย นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพ โดยหนึ่งในไฮไลต์หลักจะอยู่ที่การออกแถลงการณ์ของประธานการประชุมฯ

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับการเปิดเผยว่า “ร่างแถลงการณ์” ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 2562 ซึ่งมีทั้งหมด 43 ข้อ แบ่งออกเป็น 1.ผลลัพธ์ที่สําคัญ แถลงการณ์วิสัยทัศน์ 2.ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3.ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง 4.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 5.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 6.ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน 7.ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 8.อาเซียนบวกสาม 9.การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) 10.การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) 11.วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2040 และ 12. พัฒนาการในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นประเด็น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน แนวคิดอินโด-แปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี

เปิดไฮไลต์ “แถลงการณ์อาเซียน” ต้านกีดกันการค้า หนุนเจรจาเกาหลีเหนือ

ซึ่งสาระสำคัญที่ “ฐานเศรษฐกิจ” สรุปโดยย่อ อาทิ อาเซียนยืนยันรักษาความเป็นแกนกลางและเอกภาพของอาเซียนในการสร้าง ประชาคมและปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกที่อาเซียนมีบทบาทนํา ในกรอบอาเซียนบวกหนึ่ง อาเซียนบวกสาม (เอพีที) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (เอดีเอ็มเอ็ม-พลัส) ด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนทั้งด้านความมั่นคงที่ไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของมนุษย์ที่ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในอาเซียนและประชาคมโลกเพื่อบรรลุสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง ในภูมิภาคเพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียน โดยยึดวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

“จะมีการเผยแพร่รายงาน วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2040: มุ่งสู่ประชาคมอาเซียนที่มีความกล้าหาญและเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อประเมิน ความท้าทายที่อาเซียนกําลังเผชิญและกําหนดวิสัยทัศน์เพื่อใช้เป็นแนวทางสําหรับสองทศวรรษถัดไป โดยเฉพาะการนํายุทธศาสตร์ใหม่เชิงรุกในทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกมาใช้เพื่อสะท้อนผลประโยชน์ ด้านโครงสร้างและการจัดการของอาเซียน โดยมอบหมายให้สํานักเลขาธิการอาเซียนศึกษารายงานฉบับนี้ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสําหรับอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

 

จะมีการบริหารจัดการชายแดนให้สอดคล้องกับกฎหมายและนโยบายภายในของแต่ละประเทศ เพื่อปกป้องประชาคมอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงและบูรณาการมากขึ้นควบคู่ไปกับการอํานวยความสะดวก ทางการค้าข้ามแดนและในการเคลื่อนย้ายบุคคล  และยืนยันเจตนารมณ์ในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะ ในด้านการค้ามนุษย์และการก่อการร้าย สร้างภูมิภาคที่ปราศจากยาเสพติดและสานต่อแนวทางไม่ยอมรับการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และการสร้างพื้นที่ไซเบอร์ที่ปลอดภัย มั่นคง และเข้มแข็ง อีกทั้งยังสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ จะขับเคลื่อนเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ตามที่กําหนดโดยแผนปฏิบัติงานอาร์เซ็ป ค.ศ. 2019  เพื่อให้มีข้อริเริ่มในระดับภูมิภาคอย่างทันท่วงที อาทิ การรับรองถิ่นกําเนิดสินค้าด้วยตนเองที่ครอบคลุม ทั้งภูมิภาคอาเซียนและระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน

 

“แต่ขณะเดียวกันอาเซียนห่วงกังวลต่อกระแสนโยบายกีดกันทางการค้าและการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่กําลังลุกลาม อย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจโลกและเป็นภัยต่อระบบพหุภาคีนิยม และสนับสนุนให้ปฏิรูปและ ปรับปรุงองค์การการค้าโลก(WTO) ให้ทันสมัย เพราะอาเซียนยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ครอบคลุม เปิดกว้าง และตั้งอยู่บนกฎกติกาการค้าพหุภาคี”

 

ส่วนด้านสังคม อาเซียนเห็นพ้องในการปฏิวัติอุตสาหกรรมให้ทันสมัย พัฒนาฝีมือแรงงาน และต้องรับมือกับแนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุ พัฒนาศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรมและส่งเสริมโครงข่ายรองรับ ทางสังคมที่ดีขึ้นในภูมิภาคผ่านการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม

และไฮไลต์สุดท้าย คือการแก้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ที่อาเซียนจะเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายดําเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพ อย่างถาวรในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามปฏิญญาบันมุนจอม ปฏิญญาร่วมเปียงยาง และถ้อยแถลงร่วมระหว่างผู้นําสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ อย่างครบถ้วนและรวดเร็ว และยินดีต่อข้อริเริ่มและความพยายามของเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และจีนในการส่งเสริมการหารือกับเกาหลีเหนือ และความมุ่งมั่นของเกาหลีเหนือในการปลดอาวุธนิวเคลียร์

 

“อาเซียนสนับสนุนให้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือสานต่อความพยายามทางการทูต เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างระบอบสันติภาพที่มีเสถียรภาพและถาวร รวมทั้งคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจาก อาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์  ยืนยันว่าอาเซียนพร้อมที่จะสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริม สันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี”