แนะรับมือดอกเบี้ยต่ำ เฟดอัดฉีดคิวอี

21 มิ.ย. 2562 | 02:00 น.

สัปดาห์นี้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะประชุมในวันที่ 18-19 มิถุนายน 2562 โดยที่ผ่านมาตลาดคาดการณ์ล่วงหน้าว่า เฟดจะส่งสัญญาณว่า มีโอกาสจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลาดกังวลมาตลอดปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะคนมีเงินออม ที่มองว่า หากเฟดลดอกเบี้ยลงย่อมทำให้ผลตอบแทนหรือรายได้จากดอกผลของการลงทุนมีโอกาสชะลอตัวลงหรือไม่งอกเงย จึงนำไปสู่การมองหาการออมเงินหรือชนิดที่ต้นทุนยังคงอยู่ครบและมีผลตอบแทนในเชิงบวกด้วย

ต่อประเด็นดังกล่าว นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นดอกเบี้ยเฟดค่อนข้างจะมีเงื่อนไขกับทิศทางของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในภาพรวมการลงทุน จึงมองหาช่องทางหรือโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเมื่อเฟดลดดอกเบี้ย โดยอาจพิจารณาจากตราสารหนี้ที่เป็นดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในสหรัฐฯหรือพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นที่ออกเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐโอกาสที่จะปรับตัวลงมีน้อย  แนะรับมือดอกเบี้ยต่ำ  เฟดอัดฉีดคิวอี

สำหรับการที่เฟดอาจจะปรับลดดอกเบี้ยนั้น แบ่งเป็น 2 มุมมองคือ ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยลงแล้วส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า กลุ่ม High Yield Bond Fund ที่ให้ผลตอบแทนสูงในสหรัฐฯยังน่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด กลุ่มนี้อายุการลงทุนหรือถือครองประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จ่ายผลตอบแทนที่ 5-6% ดังนั้นถ้าเฟดลดอกเบี้ย แล้วสกุลเงินดอลลาร์แข็งจะต้องกลับไปลงทุนในตราสารหนี้ในสหรัฐฯ และหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งและสนับสนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง

ในอีกมุมมองคือ ถ้าเฟดปรับลดดอกเบี้ยแล้วส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่านั้น ผู้ลงทุนจะต้องหันมามองทั้งพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นที่ออกเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรวมกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) อาทิ อาเจนตินา บราซิล ตุรกี และเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ เหล่านี้จะได้รับผลบวกจากการปรับลดดอกเบี้ยลงของเฟด นอกจากราคาที่ปรับเพิ่มแล้ว ยังมีผลต่อสกุลเงินของประเทศในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้น ดังนั้นเมื่อแปลงเป็นสกุลเงินภูมิภาคจะได้รับผลตอบแทนดี

“ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยแล้ว ดอลลาร์อ่อนค่าจะไม่ส่งผลดีต่อหุ้นสหรัฐฯ โดยยุโรปจะชะลอตามสหรัฐฯ ดังนั้นจะเห็นเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนในเอเชียและไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยทั่วโลกจะสนใจตราสารหนี้และ Infrastructure Fund หรือ Structure Cash flow สำหรับไทยนั้นลงทุนเยอะในกองทุนอสังหาฯหรือกองรีท เป็นสินทรัพย์ที่มีอายุลงทุน 20-30 ปี แต่ต่างประเทศมองรายได้ไม่ชัดเจน เช่น เมืองไทยที่ให้ผลตอบแทน 5-5.5% แต่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของไทย (TFFIF) ผลตอบแทน 3% หากเทียบพันธบัตร 30 ปีถือว่า ผลตอบแทนดีกว่านิดเดียว”

สำหรับครึ่งปีหลัง ส่วนตัวมองว่า อาจจะไม่เห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยตามตลาดคาด แต่เฟดอาจมีนโยบายผ่อนคลาย อาจหันกลับมาทำ QE อีกครั้ง โดยเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ผ่านโครงการ Quantitative Easing (QE) ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่าการปรับลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม หากเฟดเลือกทำ QE จะส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลในตลาดเกิดใหม่เป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นและมีโอกาสเห็นเงินทุนไหลเข้า นอกจากนี้น่าจะเห็น Bitcoin มีโอกาสฟื้นตัวเป็น 1.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันราคาเหลือเพียง 9,000 ดอลลาร์ต่อ 1 Bitcoin

ด้านนายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แนวโน้มการระดมเงินฝากของสถาบันการเงินโดยรวมยังเน้นต้นทุนที่ตํ่า เฉลี่ยอายุ 3 ปี ในส่วนของธ.ก.ส.ได้เปิดรับฝากสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. ชุดเกษตรมั่งคั่ง 4 วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท รวม 1,200 ล้านหน่วยหน่วยละ 100 บาทนั้น ผลตอบรับเข้ามาค่อนข้างดี มียอดรวม 8.3 หมื่นล้านบาท (ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม-17 มิถุนายน2562) คิดเป็นลูกค้าเก่าที่ถือสลากครบแล้วกลับมาซื้อ 70% ซึ่งสลากดังกล่าวเป็นทางเลือกสำหรับการออมเงินที่ได้รับดอกเบี้ย โดยปลอด ภาษีแถมมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล โดยเฉพาะผลตอบแทนดอกเบี้ย กรณีซื้อสลากวงเงิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ย จ่าย 1.33% ต่อปี หรือวงเงิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่าย 1.438% ต่อปี โดยยังไม่รวมกรณีถูกรางวัล

“ครึ่งปีแรกยังเป็นช่วงหน้าฝนและเริ่มเปิดเทอมตลาดเงินฝากยังไม่คึกคักนัก แต่ธ.ก.ส.ยังมีเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค สำหรับประชาชนโดยฝากเงินครั้งแรก 2,000 บาท ถ้ามีวงเงินคงเหลือในบัญชีระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไปจะได้รับ 1 สิทธิในการจับรางวัล เช่น ถ้าลูกค้ามีเงินฝากคงเหลือในบัญชีรวม 10,000 บาท จะได้รับ 5 สิทธิ์ในการจับรางวัล ทุก 6 เดือนด้วย” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,480 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562