ฝากรัฐบาล-รมต.พาณิชย์คนใหม่ เปิดทุกฝ่ายร่วมเสนอนโยบาย"ข้าว"

19 มิ.ย. 2562 | 07:50 น.

ผู้ส่งออกข้าว ฝากรัฐบาล-รัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่เปิดทุกฝ่ายเสนอนโยบายข้าว  เห็นด้วยหากรัฐบาลจะใช้มาตรการพยุงราคาข้าว แต่ควรเป็นระยะสั้น  ส่วนส่งออกข้าวทั้งปีคาดต่ำกว่า10ล้านตัน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวภายหลังร่วมงานประกาศเกียรติคุณข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่ได้รับเครื่องหมายรับรองรูปพนมมือ ครั้งที่ 37 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ในการดูแลอุตสาหกรรมข้าวไทย อยากให้รัฐบาลใหม่และรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ เปิดรับฟังความเห็นและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ส่งออก โรงสี ผู้ผลิตข้าวถุง และชาวนา ได้มีส่วนรวมในการนำเสนอนโยบายและแนวทางระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำเสนอมาตลอดในหลายเรื่อง เช่น การเพาะปลูกพันธ์ข้าวใหม่ๆที่ตลาดต้องการ การลดต้นผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่ชัดเจนว่าพื้นที่ใดปลูกพันธุ์อะไรและปริมาณเท่าไหร่

ส่วนการพยุงราคาข้าวเปลือก ก็เห็นด้วยหากใช้การประกันรายได้เกษตรกร แต่ก็ใช้ได้เพียงระยะสั้นเพื่อให้รายได้ชาวนาอยู่ได้ แต่ต้องเร่งกำหนดแนวทางในการดูแลอุตสาหกรรมรวมซึ่งในขณะนี้ไม่มีทิศทาง

 “รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาอยากให้เปิดใจกว้าง รับฟังนำเสนอจากทุกส่วนไปพร้อมๆกัน แล้วนำมาประมวลกำหนดเป็นทิศทางให้แต่ละหน่วยได้มาประกอบแผนในการธุรกิจหรือการผลิต ไม่ใช่คิดแค่จะทำอย่างไรให้ราคาข้าวสูงแต่ผู้ค้าอยู่ไม่ได้ ไม่อยากให้รัฐมนตรีและรัฐบาลที่เข้ามาเน้นจะดึงแต่ราคาข้าว เพราะวันนี้การส่งออกยังเจอปัญหาแข่งขันเรื่องราคาสูง และค่าบาทแข็งทำให้การขายระยะยาวทำได้ยากขึ้น บาทผันผวนสูงและเร็ว การกำหนดราคาขายทำได้ยากกว่า คู่แข่งที่ค่าเงินเข้านิ่ง เช่น เวียดนาม ขณะที่ค่าบาทไทยวันนี้ 31.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งกว่าสัปดาห์ก่อนที่ 32 บาทต่อเหรียญ ทำให้สมาคมยังคงตัวเลขคาดส่งออกข้าวทั้งปี 2562 ไว้ที่ 9.5 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ 10 ล้านตัน

 ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่ากรมได้จัดงานประกวดและมอบรางวัลข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ปีการเพาะปลูก 2561/62     โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 37 ตั้งแต่ปี 2523 เพื่อให้เกษตรกรผู้ทำนาและกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์การเกษตร มีความตื่นตัวและได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะผลิตข้าวหอมมะลิให้ได้คุณภาพ และพยายามรักษาคุณภาพไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิขึ้นมาเป็นลำดับสอดคล้องกับความต้องการตลาดข้าวหอมมะลิที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้การประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ไทยจึงควรต้องรักษา พัฒนา และยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิของไทยให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยจะประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิของประเทศไทย และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคำสั่งซื้อของคู่ค้าเดิมและคู่ค้าใหม่ๆ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงมั่นใจว่า

การส่งออกข้าวไทยในปี 2562 นี้ จะยังไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน ตามเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาได้ทำงานกับทั้งสมาคมและผู้ประกอบการค้า และผู้ส่งออกข้าวอย่างใกล้ชิด และมั่นใจว่าข้าวหอมมะลิของไทยเองเป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งหากไทยยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ การผลักดันการส่งออกก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไปนัก ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนของการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวกรมได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพมาตรฐานคุณภาพการผลิตของผู้ประกอบการค้าข้าวเพื่อวางระบบ GMP และ HACCP ที่ส่งเสริมให้นำมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล ระบบ GMP และ HACCP มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตข้าวสาร ปัจจุบันมีโรงสีและโรงปรับปรุงคุณภาพข้าวได้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 294 ราย ทั่วประเทศ สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ขยายการดำเนินการนำร่องไปสู่โรงสีของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่ โดยได้จัดทำระบบ GMP และ HACCP ไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 51 ราย เพื่อให้สามารถสีข้าวออกจำหน่ายได้มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโดยไม่แทรกแซงราคาตลาด ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรซึ่งใช้ความต้องการของการตลาดนำการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มทำการผลิตในระบบเกษตร  แปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน