‘ทรัมป์-สี’ขโมยซีนG20 ระทึกมะกันขึ้นภาษีจีนชุดใหญ่หลังการประชุม

22 มิ.ย. 2562 | 00:05 น.

การประชุมระดับซัมมิทของกลุ่มประเทศ G20 กำลังจะมีขึ้นที่กรุงโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้เป็นประเทศเจ้าภาพ แต่สิ่งที่ประชาคมโลกคาดหวังจากการประชุมครั้งนี้กลับพุ่งไปที่ผู้นำจีนและสหรัฐอเมริกา ที่จะโคจรมาพบกันอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกหลังจากที่ทั้งคู่ได้พบกันครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ในการหารือนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบูเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ในครั้งนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนกระเตื้องขึ้นทั่วโลกเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ที่จะยุติสงครามการค้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน ไม่มีการตั้งกำแพงภาษีใส่กันเพิ่มเติมระหว่างนั้น เพื่อเปิดให้มีการเจรจาหาทางออกให้กับข้อขัดแย้งทางการค้า แต่หลังจากที่คณะเจรจาพบปะหารือกันหลายครั้งก็มาถึงทางตันเมื่อผู้นำสหรัฐฯประกาศเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 10% เพิ่มเป็น 25% กว่า 5,700 รายการ วงเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าจีนไม่ยึดมั่นในพันธะสัญญาที่ให้ไว้ ทำให้การเจรจาคืบหน้าช้ามาก ขณะที่จีนก็สวนกลับด้วยมาตรการเดียวกันโดยตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากสหรัฐฯวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมออกแถลงเป็นสมุดปกขาวว่าสาเหตุการเจรจาล่มที่แท้จริงนั้นเป็นเพราะ สหรัฐฯเป็นฝ่ายผิดคำพูดเอง ใช้นโยบายรุกรานทางการค้า และเห็นแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว 

‘ทรัมป์-สี’ขโมยซีนG20 ระทึกมะกันขึ้นภาษีจีนชุดใหญ่หลังการประชุม

หลังจากนั้นสถานการณ์เผชิญหน้าก็เพิ่มความตึงเครียดเป็นลำดับ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเดินหน้าบีบเอกชนจีน ด้วยการขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีฯ และบริษัทในเครืออีกกว่า 60 ราย ห้ามบริษัทอเมริกันค้าขายด้วย ยกเว้นแต่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้วจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อกรณีที่สหรัฐฯจ่อจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกระลอกที่วงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ ผลการตัดสินใจว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นภาษีครั้งนี้ จะประกาศหลังการประชุม G20 แต่จีนก็สวนกลับมาแล้วว่า ถ้าสหรัฐฯขึ้นภาษี จีนก็จะสู้ไม่ถอย 

คำขู่ดังกล่าวถ้าหากเป็นจริงขึ้นมา จะส่งผลกระทบโดยกว้างทั้งกับฝ่ายจีนและบริษัทเอกชนของสหรัฐฯเอง นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งใหญ่นี้จะทำให้บริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อส่งออกกลับมายังสหรัฐฯ อาทิ บริษัท แอปเปิล อิงค์. ได้รับความเสียหายไปด้วย สงครามการค้าจะส่งผลสั่นสะเทือนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก และนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ สงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้การลงทุนทั่วโลกหดหายไปแล้วกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 46.5 ล้านล้านบาท 

ดังนั้น ในการประชุม G20 ซัมมิทที่เมืองโอซากาปลายเดือนนี้ ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่การพบกันอีกครั้งระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าจะมีการเจรจานอกรอบเพื่อส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจโลกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ (ช่วงการปิดต้นฉบับ 18 มิ.ย.) ผู้นำสหรัฐฯระบุหลายครั้งแล้วว่าเขาจะพบกับผู้นำจีนในการประชุมนอกรอบ G-20 แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากฝ่ายจีนแต่อย่างใด นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า แม้ที่สุดแล้วผู้นำทั้งสองได้มีโอกาสพบกันนอกรอบการประชุม G20 สิ่งที่คาดหวังจะได้เห็น คงไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่อย่างน้อยก็อาจจะเป็นการสงบศึกชั่วคราวอีกครั้งเพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อหาข้อยุติให้กับข้อพิพาททางการค้าที่มีอยู่ 

 

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าการประชุมครั้งนี้ไม่มีข่าวดี อะไรจะเป็นข่าวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้หลายฝ่ายเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะวอล์กเอาต์ หรือแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ด้วยการออกจากที่ประชุมไปดื้อๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นในการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และนายคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ประเทศเวียดนาม และในการประชุมของพรรคเดโมแครตว่าด้วยเรื่องงบในการจัดสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก 

บทวิเคราะห์ของนักวางกลยุทธ์วาณิชธนกิจมอร์แกน สแตนเลย์ คาดการณ์ว่าบรรยากาศความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ และมีผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก “คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ต่อไปเกือบจะตลอดทั้งปีของปีหน้า ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับผลการประชุมที่ออกมาเป็นเชิงบวกต่อตลาด” 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3480 ระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2562