SMEs ขอโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ หวังรัฐบาลใหม่ช่วยตรงจุด

21 มิ.ย. 2562 | 09:20 น.

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียงส่งถึงรัฐบาลใหม่เร่งปรับเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อ ชี้เป็นโอกาสขยายธุรกิจ  พร้อมเร่งหาช่องทางประชาสัมพันธ์โครงการให้เอสเอ็มอีรับทราบได้อย่างทั่วถึง ระบุโครงการที่ทำมาดีแล้วให้มีต่อเนื่อง

นายจตุพร จันทรัตน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท  โกลบอล  มารีน  โฟรเซ่น  ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งแบรนด์ “ชิมชิว” (ShrimpChew) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) คือเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ  เนื่องจากหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อในปัจจุบันของสถาบันการเงินยังไม่เอื้อให้กับเอสเอ็มอีเท่าใดนัก  ส่งผลทำให้ขาดโอกาสในการขยายตลาด  เพื่อการเติบโตของธุรกิจ

ทั้งนี้  บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเลแช่แข็ง โดยส่วนใหญ่จะเน้นเป็นกุ้ง ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้  แม้ว่าบริษัทจะมีการแตกไลน์ธุรกิจไปสู่อาหารประเภทอื่นมากขึ้น  เนื่องจากสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการกุ้งส่งออก เพราะมองว่ากุ้งมีราคาสูงกว่าประเทศอื่น  แต่บริษัททำธุรกิจในประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย  เพราะฉะนั้น   จึงต้องการให้มีการปรับหลักเกณฑ์  หรือให้พิจารณาลงลึกถึงรายละเอียดของธุรกิจมากกว่านี้  เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต  

“หากสามารถขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้  จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากบริษัทต้องการลงทุนเครื่องจักร  เพื่อลดต้นทุน  และเพิ่มกำลังผลิตทดแทนแรงงานบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเมียนมาโดยที่ผ่านมากลุ่มแรงงานดังกล่าวได้เดินทางกลับไปทำงานในประเทศของตนเองเป็นจำนวนมาก  จากความต้องการแรงงานในประเทศ  ซึ่งบริษัทก็ได้รับผลกระทบด้วยจากเดิมที่มีแรงงานอยู่ 350 คน ปัจจุบันเหลือเพียง200 เท่านั้น” SMEs ขอโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ  หวังรัฐบาลใหม่ช่วยตรงจุด

อย่างไรก็ตาม  โครงการ  หรือมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้น  มองว่าเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว  ควรที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  แต่อาจจะต้องทำการศึกษาความต้องการของเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มเพิ่มมากขึ้น  เพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

นายมงคล คงสุขจิร  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี  พีล โล 999 (ประเทศไทย) จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นใย และผลิตภัณฑ์จากผ้าต่อต้านแบคทีเรียแบรนด์ “D pillow” กล่าวว่า สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องเร่งดำเนินการให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนักในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องหาวิธีการปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ซึ่งเข้าใจว่าหากจะต้องมาพิจารณาเป็นรายกรณีอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่เชื่อว่าน่าจะมีแนวทางที่จะสามารถทำได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของการประชา สัมพันธ์โครงการของรัฐบาลเพื่อเอสเอ็มอี เพราะเท่าที่พบจากประสบการณ์จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่ามีเอสเอ็มอีจำนวนไม่มากที่รู้ข้อมูลข่าวสาร แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการ และงบประมาณสนับสนุนมากมายจากหลายหน่วยงานก็ตาม  ยกตัวอย่างเช่น  ล่าสุดตนกำลังจะได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในรูปแบบของ ซอสทุเรียน สำหรับรับประทานกับขนมปัง หรือเป็นท็อปปิ้งให้กับอาหารประเภทต่างๆ  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องของการวิจัยประมาณ 5.3 แสนบาท หลังจากนั้นก็จะได้รับงบส่งเสริมอีก 1.3 ล้านบาทหลังจากที่งานวิจัยเสร็จเรียบร้อยจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์

“ที่บริษัทสามารถเข้าถึงงบประมาณสนับสนุนดังกล่าวได้  เพราะอยู่ในกลุ่มของเอสเอ็มอีที่เกี่ยวกับนวัตกรรม ซึ่งจะมีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารกันตลอดภายในกลุ่ม  โดยพบว่ามีโครงการหรือการประชุมสัมมนามากมายในแต่ละวัน เพียงแต่จะรับทราบกันเฉพาะแค่ในกลุ่ม เอสเอ็มอีที่อยู่นอกกลุ่มจะไม่รับรู้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องหาวิธีประชา สัมพันธ์อย่างไรให้เอสเอ็มอีได้รับทราบ โดยเฉพาะจากกระทรวงอุตสาหกรรม  ซึ่งมีโครงการดีๆอยู่เป็นจำนวนมาก  แต่เอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึง”

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนางสาวมนัสชญาณ์ อู่สมบัติชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท  ดีไลท์88 จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “จั๊บจั๊บ”ที่ระบุว่า สินเชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเอสเอ็มอี  ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ  เนื่องจากข้อจำกัดหรือหลักเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวย  เพราะฉะนั้นจึงมองว่ารัฐบาลควรที่จะต้องเข้ามาดูแล และศึกษาธรรมชาติของเอสเอ็มอีอย่างถ่องแท้  เพื่อการดำเนินมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด และเหมาะสม

“ตนเคยเข้าร่วมโครงการจากภาครัฐโครงการหนึ่ง โดยต้องการขอสินเชื่อเพื่อนำมาลงทุนเครื่องจักรใหม่ แต่กฎเกณฑ์ก็คือเอสเอ็มอีต้องลงทุนเครื่องจักรไปก่อนจึงจะสามารถนำมาเบิกเงินไปได้ ซึ่งเท่าที่ทราบเอสเอ็มอีหลายรายก็ต้องโดนเงื่อนไขเดียวกัน  โดยตามหลักความเป็นจริงแล้วหากมีเงินลงทุนก็คงไม่ต้องไปขอกู้เพื่อให้เสียดอกเบี้ย แต่เพราะไม่มีจึงต้องกู้ หรือหากจะต้องรอเก็บเงินให้ครบเพื่อลงทุน  เครื่อง จักรตัวนั้นก็คงล้าสมัยไปแล้ว โดยเรื่องดังกล่าวนี้ทำให้เสียโอกาสทางการค้าเป็นอย่างมาก” 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3480 วันที่ 20-22 มิถุนายน 2562

SMEs ขอโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ  หวังรัฐบาลใหม่ช่วยตรงจุด