ย้อนรอย98ปี “ซีพี” “เจียรวนนท์”ผลัดใบ

16 มิ.ย. 2562 | 10:05 น.

นับตั้งแต่ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ วัย 80 ปีประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เมื่อเดือนเมษายน 2562 ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน และประธานกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น มีผลในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการเปิดใจให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับทิศทางการบริหารงานของเครือซีพีมากนักโดยเฉพาะสื่อในประเทศ

นายธนินท์ เจียรวนนท์

-เจ้าสัวเปิดช่องคนนอกกุมซีพี

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง นิกเกอิ เอเชียน รีวิว ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ “เจ้าสัวธนินท์” เรื่อง Thai billionaire 'open' to outside CEO at CP Group มีเนื้อหาน่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

 

เจ้าสัวธนินท์ ยอมรับว่า เขาเปิดกว้างที่จะรับคนนอกตระกูลเจียรวนนท์ มานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของซีพี กรุ๊ป ซึ่งทำรายได้ในปีที่แล้วถึง 63,000 ล้านดอลลาร์ บทสัมภาษณ์ของนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า บุรุษที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ตอกย้ำแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจตระกูลใหญ่ของเอเชียหลายราย ที่เริ่มเปิดรับให้คนนอกเข้ามาบริหารมากขึ้น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

แม้ว่าในปัจจุบันบุตรชายทั้ง 2 คน (สุภกิต และศุภชัย เจียรวนนท์) จะขึ้นมาอยู่บนตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หลังจากที่ธนินท์วางมือจากตำแหน่งผู้บริหารในปี 2560 มาเป็นประธานคณะบริหารอาวุโส แต่ทายาททั้งสองก็อาจจะไม่ได้รั้งตำแหน่งยาวนานเหมือนเช่นยุคของเจ้าสัวธนินท์เอง ที่ดำรงตำแหน่งบริหารอยู่ถึง 5 ทศวรรษ

 

ความตั้งใจเดิมของเจ้าสัวธนินท์ คือ การเลือกสมาชิกในครอบครัวดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร แต่หากไม่สามารถหาคนในครอบครัวที่เหมาะสม เขาก็เปิดกว้างสำหรับคนนอกทุกคนที่มีความสามารถและเหมาะสมกับตำแหน่งนี้

 

-วางตัวทายาทสานต่อธุริจ

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวกับนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ว่า ทายาทที่มีศักยภาพ และเป็นไปได้ว่าจะสืบทอดอำนาจรุ่นต่อๆไปในอนาคต คือ ธนิศร์ เจียรวนนท์ (บุตรชายคนโตของนายสุภกิต) ซึ่งปัจจุบันบริหารงานในบริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประเทศอินเดีย และอีกคนคือ นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ (บุตรชายคนโตของนายศุภชัย) ผู้ก่อตั้ง บริษัท เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสาร ผู้ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับให้อยู่ในทำเนียบ Forbes Asia’s 30 หรือทำเนียบมหาเศรษฐีของเอเชียที่อายุน้อยกว่า 30 ปี

 

-ย้อนรอยเครือซีพี

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีกรุ๊ปมีจุดเริ่มต้นในปี 2464 โดย 2 พี่น้องคือนายเจี่ย เอ็กชอ (บิดาของธนินท์ เจียรวนนท์) และนายเจี่ย เชี่ยวฮุย(นายชนม์เจริญ เจียรวนนท์)ได้อพยพมาจากเมืองจีน และได้เปิดร้านเจียไต้จึง จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักขึ้นที่ย่านทรงวาด ก่อนขยายธุรกิจในรุ่นลูก และรุ่นหลานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเครือซีพีได้แตกแขนงออกเป็น 8 สายธุรกิจหลัก (13 กลุ่มธุรกิจย่อย) และจะมีอายุครบ 1 ศตวรรษ หรือ 100 ปีในปี 2564 นี้ ซึ่งวงในระบุอยู่ระหว่างเตรียมแผนงานกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้า อีกทั้งเป็นการเปิดทางทายาทรุ่นใหม่ขึ้นแบกรับภารกิจอาณาจักรซีพีในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ กับแผนการลงทุนใหญ่หลายโครงการในมือ

นายสุภกิต เจียรวนนท์

-ตั้ง“สุภกิต”นั่งก.ก.CPF

เมื่อต้นปี 2560นายธนินท์เตรียมผลัดใบระลอกแรก โดยลาออกตำแหน่งประธานกรรมการกลุ่มซีพี แล้วแต่งตั้งสุภกิต บุตรชายคนโตเป็นประธานแทน มี“ณรงค์ เจียรวนนท์”บุตรชายอีกคนเป็นรองประธาน และแต่งตั้งนายศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 3 ที่ได้ฝึกปรือการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมาก่อน ขึ้นมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยนายธนินท์ขยับถอยไปนั่งเป็นประธานอาวุโส คอยกำกับอยู่ห่างๆ

 

จากนั้นเมื่อวันที่ วันที่ 24 เมษายน 2562  นายธนินทร์ได้ขยับถอยอีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้ทายาทรุ่น 3 ขยับก้าวเข้าแบกรับภารกิจนำทัพธุรกิจซีพีโลดแล่นต่อในเวทีโลก ในวาระที่ซีพีจะครบ 100 ปีการก่อตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยตั้งนายสุภกิต เจียรวนนท์ ทายาทคนโต เป็นประธานซีพีเอฟ ควบตำแหน่งประธานซีพีกรุ๊ป

 

นายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ ถูกจับตาว่าเป็นทายาทสายตรงที่จะขึ้นกุมบังเหียนอาณาจักรซีพีแทนเจ้าสัวธนินท์ จากเดิมที่สุภกิตได้รับมอบหมายให้ดูแลบุกเบิกการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน ที่เป็นอีกฐานธุรกิจสำคัญของซีพี

 

การเข้ามาเป็นกรรมการซีพีเอฟ ธุรกิจหลักที่เป็นเรือธงเครือซีพี ของนายสุภกิตน่าติดตามว่าจะกำหนดทิศทางเป้าหมายของซีพีเอฟยักษ์ใหญ่วงการเกษตรอุตสาห กรรมและอาหารของไทยและของโลก สืบต่อจากเจ้าสัวธนินท์ที่ยังคอยกำกับดูแลอยู่ห่างๆ

ในปี 2561 ซีพีเอฟมีรายได้จากการขาย 541,937 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 15,531 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์(Feed) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์(Farm) และธุรกิจอาหาร(Food) สัดส่วน 42%, 41% และ 17% ตามลำดับ โดยซีพีเอฟมีการลงทุนและขยายกิจการครอบคลุม 17 ประเทศ และส่งออกไปกว่า 30 ประเทศ ใน 5 ทวีปทั่วโลก

นายศุภชัย เจียรวนนท์

ส่วนกลุ่มสื่อโทรคมนาคมภายใต้อาณาจักร "ทรู คอร์ปอเรชั่น" เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นายธนินท์ ขยับถอยให้นายศุภชัย เข้ามาทำหน้าที่ประธานกรรมการ

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก นายธนินท์ เจียรวนนท์ ยังนั่งเป็นประธานกรรมการ และมีนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและรองประธานกรรมการ โดยมีลูกหม้อเก่าแก่ของเครือซีพี อย่างนายธานินทร์ บูรณมานิต เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ

-สยายปีกสู่ธุรกิจอื่นๆ

เครือซีพีฯยังสยายธุรกิจสู่บริการทางการเงิน การธนาคารและประกันภัย ธุรกิจหลัก เครือฯร่วมมือกับกลุ่มบริษัทชั้นนำแบบครบวงจรระดับนานาชาติ ทั้งจากประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น โดยในประเทศจีนมี Ping An Insurance ที่ให้บริการทางการเงิน Zheng Xin Bank ให้บริการด้านการเงิน และ ITOCHU ที่จัดการการเงิน รวมถึงการลงทุนทางธุรกิจในญี่ปุ่นและต่างประเทศ

 

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2561 ธนาคารกรุงศรี (BAY) ได้ขายหุ้นในบริษัทเงินติดล้อ จำกัด 50% (จากที่ BAY ถืออยู่ 100%) ให้กับ Siam Asia Credit Access Ltd. ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์ ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ บริหารโดย “ชวินทร์ เจียรวนนท์”

 

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือซีพี ดำเนินการโดยบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)ภายใต้การดูแลของนายสุนทร อรุณานนท์ชัย ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้บริหารซี.พี.แลนด์ ปัจจุบันแบ่งเป็น 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจที่พักอาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม 2.ธุรกิจโรงแรม 3.ธุรกิจอาคารสำนักงาน4.นิคมอุตสาหกรรมซีพี จีซี 5.ธุรกิจบริหารอาคาร 6.ธุรกิจพลังงาน 7.ธุรกิจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น

 

ที่ผ่านซีพี กรุ๊ป มีการลงทุนใน 22 ประเทศทั่วโลก บริษัทในเครือทำธุรกิจครอบคลุมหลากหลายสาขา แต่แบ่งเป็นหลักๆ คือ 3 ธุรกิจเสาหลัก ได้แก่  ซีพี ฟู้ดส์ ดูแลธุรกิจด้านอาหาร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจฟาร์มเลี้ยง ไปจนถึงอาหารแปรรูปพร้อมบริโภค  ซีพีออลล์  ดูแลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 และทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของไทย

ย้อนรอย98ปี “ซีพี”  “เจียรวนนท์”ผลัดใบ