ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ขับเคลื่อนพัฒนาศก. สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

15 มิ.ย. 2562 | 03:19 น.

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2020 - 2022 ในนามกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับจีน เกาหลีใต้ และบังกลาเทศ

 

ดอน ปรมัตถ์วินัย

ประเทศไทยได้รับคะแนนเสียง 186 คะแนน (เป็นที่หนึ่งในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

 

ทั้งนี้ ไทยเว้นจากการเป็นสมาชิก ECOSOC มาถึง 12 ปี หลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกครั้งสุดท้ายเมื่อวาระ ค.ศ. 2005 - 2007 และการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

 

 ECOSOC เป็น 1 ใน  6 องค์กรหลักของสหประชาชาติ มีภารกิจหลักในการเสนอและทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศร่วมบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ค.ศ. 2030 ดังนั้น การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ซึ่งมีสมาชิกจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกทั้งสิ้น 54 ประเทศ  เป็นโอกาสให้ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและบทบาทมากยิ่งขึ้นในการเสนอแนะนโยบายและแนวทางเพื่อผลักดันให้ ECOSOC เป็นเวทีระหว่างประเทศที่สามารถส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยยังสามารถแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบการณ์ของไทยในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง

ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ขับเคลื่อนพัฒนาศก. สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก ECOSOC ไทยก็มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในด้านการพัฒนามาโดยตลอด เช่น ในด้านสุขภาพโดยการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านสังคมโดยการริเริ่ม Bangkok Principles ซึ่งป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพให้เป็นแนวปฏิบัติของสหประชาชาติในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีมาตรฐานและความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ประจักษ์ในเวทีสากล