หนุนขึ้นภาษียาเส้นมั่นใจนักสูบไม่ลด

19 มิ.ย. 2562 | 00:00 น.

นักวิชาการหนุนขึ้นภาษียาเส้นหลังกรมสรรพสามิตปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบ 50 ปี มั่นใจไม่กระทบทำให้นักสูบลดลง เพราะราคาตํ่ามากเมื่อเทียบกับภาษีบุหรี่ที่ห่างกัน 260 เท่า ขณะที่ผลวิจัยพบหลังบุหรี่ราคาพุ่งคนหันมาสูบยาเส้นแทน

รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการที่กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษียาเส้น แม้จะเป็นการปรับครั้งที่ 2 ในรอบ 50 ปีและมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจาก 0.005 บาท เป็น 0.10 บาทต่อกรัม โดยอัตราภาษียาเส้นที่เพิ่มขึ้น 19 เท่าส่งผลให้ยาเส้น 1 ห่อเสียภาษีรวมประมาณ 18 สตางค์ แต่เมื่อเทียบกับอัตราภาษีบุหรี่ซึ่ง 1 ซองจะเสียภาษีไม่ตํ่ากว่า 47 บาท แตกต่างกัน 260 เท่า อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นภาษียาเส้นจะช่วยควบคุมการบริโภคยาสูบได้ในระยะยาว

ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่า คนไทยที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปนิยมสูบยาเส้น 3 ล้านคน ขณะที่สูบบุหรี่มีจำนวน 1.8 ล้านคน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ควรส่งเสริมให้ลดการสูบยาเส้น ซึ่งจะช่วยลดภาระการรักษาพยาบาลในกลุ่มผู้สูงวัยที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วย

“เบื้องต้นประเมินว่าการขึ้นภาษียาเส้นจะทำให้มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 2-3 บาทต่อห่อแล้วแต่ขนาดบรรจุ ทำให้ราคายาเส้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเฉลี่ยไม่เกิน 15 บาทต่อห่อ ซึ่งยังตํ่ากว่าบุหรี่ที่ราคาถูกที่สุดในตลาด 3 เท่าตัว” รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวและว่า

หนุนขึ้นภาษียาเส้นมั่นใจนักสูบไม่ลด

รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์

การปรับขึ้นภาษียาเส้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้จะขึ้นราคายาเส้นหลังการขึ้นภาษีแต่ก็ยังเป็นราคาที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ห่อละไม่เกิน 15 บาทราคายังถูกอยู่และบางยี่ห้อมีการปรับขนาดลดลงเพื่อให้เสียภาษีลดลงและไม่ต้องขึ้นราคามากนัก แต่ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่ผู้ผลิตยาเส้นต้องหามาจ่ายค่าภาษีเพิ่มตอนขายยาเส้นออกหน้าโรงงานมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก็สามารถหารือกับภาครัฐได้ว่ามีวิธีบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในส่วนนี้ได้บ้างหรือไม่

อย่างไรก็ดีจากการศึกษาเรื่องภาษีบุหรี่และภาษียาเส้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยาเส้นมีอัตราและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วยเพราะราคาที่ถูก หาซื้อได้ง่าย เมื่อภาษีบุหรี่ปรับเพิ่มสูงขึ้นผู้บริโภคก็หันไปสูบยาเส้นแทน ทำให้ปริมาณการบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตัวเลขกรมสรรพสามิตระบุว่าในปี 2561 มียาเส้นชำระภาษีรวมปริมาณ 26,000 ล้านกรัม เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เก็บภาษีสรรพสามิตได้ 130 ล้านบาท ขณะที่บุหรี่ปริมาณ 34,000 ล้านมวน ลดลง 16% เก็บภาษีสรรพสามิตได้กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท  

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3479 ระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายน 2562