ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย (5)

12 มิ.ย. 2562 | 09:27 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3478 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย (5)

 

           ความจงรักภักดีต่อระบอบราชาธิปไตยของคนไทย

          คนไทยนั้นไม่มีความคิดที่แน่นอนตายตัว ว่าภักดีต่อระบอบประชาธิปไตยหรือภักดีต่อการปกครองของคณะทหาร ความภักดีนี้สามารถแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คนไทยสนับสนุนและไม่สนับสนุนประชาธิปไตยได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ไม่ได้ยึดติดว่าประชาธิปไตยคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

          แต่สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือ จงรักภักดีและให้ความชอบธรรมมาโดยตลอดคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ คนไทยให้ความจงรักภักดีกับระบอบราชาธิปไตยที่อยู่เหนือการเมืองเท่านั้น ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองไทยยังคงมีลักษณะเป็นทวิลักษณ์ กล่าวคือ การกลับไปกลับมาของ 2 ระบอบย่อย ได้แก่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และระบอบ รัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการยึดอำนาจ ซึ่งทั้ง 2 ระบอบย่อยไม่ได้รับความชอบธรรมและความภักดีจากคนไทยอย่างยั่งยืน เช่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ไทยต้องมีอยู่ตลอด ทั้งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยจึงขาดพระมหากษัตริย์ไม่ได้แม้วันเดียว ทั้งที่หลายห้วงเวลาประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญก็ได้ ไม่มีรัฐบาลและไม่มีประชาธิปไตยก็ได้

          คนไทยไม่ได้มีความชอบธรรมและความจงรักภักดีต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2475 แม้มีคนไทยบางส่วนไม่พอใจต่อการปกครองระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ แต่ก็ไม่ได้ชื่นชอบและยอมรับอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากนัก เมื่อถึงยุคเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คนไทยต่อต้านเผด็จการทหาร เล็งเห็นถึงความเลวร้ายที่มีอยู่ แต่ก็ไม่ได้สนใจและเข้าใจอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในฐานะอุดมการณ์หลักของประเทศ นอกจากกลุ่มผู้นำนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น

          ส่วนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ชนชั้นกลางปฏิเสธและขับไล่เผด็จการทหาร และเริ่มที่จะสมาทานกับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย มากขึ้น แต่ความคิดนี้ก็มิได้ดำรงอยู่ตลอด เห็นได้ว่าคนไทยไม่มีความภักดีและให้ความชอบธรรมกับประชา ธิปไตย ในฐานะระบอบ (Regime Legitimacy) แต่คนไทยพิจารณาประชาธิปไตยที่ผลงานของมันเป็นหลัก (Performance Legitimacy)

           ประชาธิปไตยของไทยและแบบแผนของโลกตะวันตก

          การศึกษาประชาธิปไตยในอดีตที่ผ่านมา เป็นไปตามแนวทางตะวันตกเพียงอย่างเดียว ซึ่งแบบแผนของตะวันตกทั้งหมดทำได้ยาก ในประเทศไทยที่มีรากฐานประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง เมื่อการเมืองไทยไม่มีความสอดคล้องกับแนวทางตะวันตกก็มักถูกเย้ยหยัน เพราะในอดีตเมื่อ 200 ปี โลกตะวันตกเป็นใหญ่ในโลก แต่ในปัจจุบันตะวันตกอ่อนแอลง โลกตะวันออกเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้ง

          ความสำคัญของแบบแผนและความคิดในแบบโลกตะวันออกจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าโลกตะวันตก ดังนั้นเราควรพิจารณาถึงการแสดงออกทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันออก หรือกระแสอื่นที่นอกเหนือไป จากแนวคิดและรูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกบ้าง เราอาจนำข้อดีหรือจุดแข็งดั้งเดิมของโลกตะวันออก ในแต่ละวัฒนธรรมและแต่ละพื้นที่ เข้ามาปรับใช้ร่วมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราต้องกลับไปมองสถาบันหลักอันเป็นสถาบันดั้งเดิมของไทย ในแง่ที่ดีมากขึ้น เพื่อผสมผสานไปกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก

          เช่น พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นจักรพรรดิราช อันเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า พระมหากษัตริย์มีความภาคภูมิใจในการปกครองพสกนิกรทุกชนชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมเท่าเทียมกัน อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ องค์เดียวกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

          ในโลกตะวันตกเห็นว่า การมีระบอบประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยระบบทุนนิยม และระบบราชการเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ส่วนระบบที่ไม่เป็นเช่นนี้ หรือระบบที่ผสมผสานถือว่าเป็นแบบจำแลง ที่ผ่านมาคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” มักถูกให้ความหมายในแง่ลบต่างๆ แต่ประชาธิปไตยนั้นควรเกิดจากอัตลักษณ์ และรากฐานทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของสังคมไทยด้วยมิใช่หรือ

           ประชาธิปไตยไทยกับ 70 ปี ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9

          ในการทำความเข้าใจประชา ธิปไตยของไทยให้ดียิ่งขึ้น ต้องเข้าใจว่า โดยส่วนใหญ่ของเส้นทางประชา ธิปไตยตลอดระยะ 87 ปีนั้น อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถึง 70 ปี คือตั้งแต่ปี 2489 อันเป็นปีที่ 1 ของรัชกาล ดังนั้นในการเข้าใจการเปลี่ยน แปลงของประชาธิปไตยและการเมืองไทย จำเป็นอย่างยิ่งต้องพิจารณาและเข้าใจสิ่งที่รัชกาลที่ 9 ได้ทำและวางรากฐานไว้ด้วย

          การพิจารณาประชาธิปไตยของไทยที่แยกออกจาก 70 ปี ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 นั้นทำได้ยากยิ่ง เพราะทั้ง 2 สิ่งเป็นเรื่องที่สอด คล้องกัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แม้ในช่วงแรกของการครองราชสมบัติ รัชกาลที่ 9 เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ แต่ในเวลาต่อมา รัชกาลที่ 9 ก็มีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้นโดยลำดับ สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงช่วงชิงหัวใจประชาชนชาวไทย ให้มามีความจงรักภักดีต่อพระองค์ได้ และทรงสามารถกระทำได้อย่างแนบเนียน

          อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงออกแบบรูปแบบของแนวทางการปกครองระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ เป็นธรรมราชหรือเป็นธรรมาธิปไตยด้วย ทรงทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย ทรงคำนึงว่า ณ เวลาในสถานการณ์ของบ้านเมืองแบบใด สถาบันพระมหากษัตริย์ควรมีบทบาทที่เหมาะสมอย่างไร

          รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสว่า พระมหากษัตริย์จะลงไปยุ่งกับการเมือง ในภาวะที่คับขันสุดขีด และเมื่อลงไปแล้วต้องรีบกลับ ขึ้นมา

          นี่คือประชาธิปไตยที่ผสมผสานไปกับ ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ในแบบที่รัชกาลที่ 9 ได้ทรงสร้าง และรัชกาลที่ 10 กำลังสืบทอด อันนี้อาจมองเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองของไทย ที่นักทฤษฎีประชาธิปไตยชาวไทยหรือสากล ควรเห็นคุณค่ามากกว่าการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ดีตามรูปแบบของประชาธิปไตยตะวันตก (อ่านต่อในตอนต่อไป)