บัตรผ่อนชำระยังโต กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ชี้ 4 เดือนพุ่ง 15%

14 มิ.ย. 2562 | 10:55 น.

 

 

ท่ามกลางความกังวลระดับหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสแรกปี 2562 จากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวถึง 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปีนับจากไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้วย

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ภายใต้แบรนด์ “กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์” ซึ่งมีพื้นฐานบริการจากสินเชื่อผ่อนชำระ มีฐานลูกค้ากว่า 2 ล้านราย

 

บัตรผ่อนชำระยังโต กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ชี้ 4 เดือนพุ่ง 15%

ณญาณี เผือกขำ

เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อและยอดใช้จ่ายช่วง 4 เดือน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเห็นได้จากยอดใช้จ่ายรวมมูลค่า 2.86 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 30% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเงิน 8,500 บาทต่อบัตร ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งสินเชื่อผ่อนชำระและกดเงินสด เติบโต 18% วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่า ยอดสินเชื่อคงค้าง(NEA)สิ้นปีจะเติบโต 11-12% จาก 5.48 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 12% จากฐานบัตรใหม่ 1.2 แสนใบที่เหลือเป็นบัตรเครดิตประมาณ 40% ส่วนสัญญาณผ่อนชำระยังมีแนวโน้มที่ดีในแง่ผ่อนจ่าย โดยเห็นได้ว่า การผ่อนชำระเติบโต 15% ขณะคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 2.2% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.7% และคาดว่า จะทรงตัวในระดับ 2.2% ไปจนถึงสิ้นปี

 

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดเพดานวงเงินและกำกับสถาบันการเงินในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ยอมรับว่า ทางกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ได้รับผลกระทบเพียง 5% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากก่อนหน้าคาดว่า จะกระทบลูกค้าปล่อยใหม่ประมาณ 10% ซึ่งส่วนหนึ่งบริษัทได้เปิดตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ 8 อาชีพ เช่น อาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ลูกจ้างทำงานชั่วคราว ลาลามูฟ วินมอเตอร์ แม่บ้าน ซึ่งเป็นการเปิดให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงบริการทางการเงิน แต่ยังคุมมาตรฐานการก่อหนี้สำหรับคุณภาพลูกค้ารายใหม่ด้วย

“ถ้ามองด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน อัตราการอนุมัติอยู่ที่ 40% ซึ่งไม่ได้แย่ แต่สาเหตุที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 60% เพราะสภาพหนี้เร่งตัวขึ้นกว่ารายได้ หรือสัดส่วนหนี้ต่อรายได้(DSR) สูงเกินไปสะท้อนว่า ผู้กู้มีหนี้มากกว่ารายได้ เพราะฉะนั้นถ้าหนี้ไปเร็ว แต่รายได้หาไม่ทันแล้ว เราจะปล่อยเขาได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่พบในผู้กู้ที่ถูกปฏิเสธคือ บางรายพยายามจะกลับมายื่นขอกู้อีกครั้งใน 6 เดือนถัดไปบ้าง บางคนยื่นกู้ถึง 10 ครั้ง หรือต้องการวงเงินมากเกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปเพิ่มภาระหนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ DSR สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องคุมคุณภาพหนี้ด้วย”

ที่ผ่านมาบริษัทมีโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ให้กับลูกค้า ซึ่งนอกจากจะบอกเรื่องอย่าฟุ่มเฟือยแล้วยังสรรหาวิธีหารายได้เพิ่ม ที่สำคัญต้องบอกผู้กู้หรือลูกค้าตรงไปตรงมาว่า ช่วงที่ไม่มีปัญหา อย่าสร้างปัญหา แนะนำให้อยู่นิ่งๆ พอมีรายได้เพิ่มค่อยไปยื่นขอกู้ ซึ่งด้วยรูปแบบที่บริษัทมีฐานเป็นบัตรผ่อนชำระอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้ามีคุณภาพ โดยยอดผ่อนชำระ 4 เดือนปีนี้เติบโต 15%

ส่วนการดู DSR นั้น บริษัทจะดูจากประวัติผู้กู้ในเครดิตบูโรส่วนหนึ่ง ซึ่งยอมรับว่า หากผู้กู้ไม่เคยมีประวัติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินจะยากในการตรวจสอบประวัติเครดิต เพราะไม่มีบันทึกในเครดิตบูโร ซึ่งต้องแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ โดย DSR ของบริษัทอยู่ที่ 40-50% ของรายได้ ขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้กู้แต่ละราย

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บัตรผ่อนชำระยังโต กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ชี้ 4 เดือนพุ่ง 15%