‘ศึกนอก-ศึกใน’ ปัจจัยเร่ง รัฐนาวา‘ประยุทธ์2’อยู่ไม่เกินปี

12 มิ.ย. 2562 | 06:30 น.

ไม่เหนือความคาดหมายเมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้รับเสียงโหวตจากรัฐสภาด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 เสียง ทิ้งห่าง นายธนาธร จึงรุ่ง- เรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่ออีกสมัย

ชีพจรการเมืองไทยหลังจากนี้ที่คอการเมืองต่างให้ความสนใจและจับจ้องเป็นพิเศษอยู่ตรงที่ “รัฐนาวาลุงตู่ 2” ที่มีเสียงปริ่มนํ้าลำนี้ จะสามารถบริหารงานราชการแผ่นดินต่อไปได้ยาว นานแค่ไหน เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

เนื่องจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในขณะนี้ นักวิเคราะห์ทางการเมืองของไทยจึงเชื่อว่า เป็นเรื่องยากหาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะกัปตันเรือบังคับไม่ดี “รัฐนาวา” ลำนี้เสี่ยงที่จะพลิกควํ่าและล่มลงได้ในระยะเวลาอันสั้น จาก 3 ปัจจัยภายในที่สำคัญ ดังนี้

1. เกิดจากโครงสร้างการเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มนํ้า ดังที่ทราบกันดีว่า ขั้วพรรคพลังประชารัฐนั้น ประกอบขึ้นจากเสียงของพรรคต่างๆ รวมกันมากถึง 19 พรรค อาทิ พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง ประชาธิปัตย์ 53 เสียง ภูมิใจไทย 51 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียงชาติพัฒนา 3 เสียง และอื่นๆ อีก 16 เสียง รวม 254 เสียง

เมื่อเข้าสู่ช่วงของการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยจำนวน เสียงที่มีอยู่นี้จะเป็นปัญหาเมื่อต้องผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งขึ้นไป หรือเกินกว่า 251 เสียง ดังนั้น ในวันลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ. งบประมาณ เราอาจได้เห็นส.ส. บางคนนั่งรถเข็น บ้างพกถุงนํ้าเกลือมาลงมติ หรือภาพของส.ส. ที่อยู่ระหว่างประชุมกรรมาธิการชุดต่างๆ วิ่งกรูเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติรับหลักการร่างกฎหมายของรัฐบาลในอีกหลายๆ ฉบับนับจากนี้

2. จากความขัดแย้งกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่เริ่มจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล อาทิ การจัดสรรเก้าอี้ไม่ลงตัว เกิดการแย่งเก้าอี้สำคัญๆ กันเกิดขึ้น

นอกจากนี้ในแง่ของการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป็นเรื่องปกติเมื่อพรรคร่วมมีข้อเสนอมักไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่นำพา เพราะไม่ใช่พรรคตัวเอง ซึ่งจุดประสงค์ที่มาร่วมกันนั้น เพื่อต้องการแบ่งเค้กกันเท่านั้น เมื่อแบ่งกันแล้วก็ไม่เกี่ยวกัน ต่างคนต่างอยู่ ดังนั้น โอกาสความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจึงมีอยู่มาก

‘ศึกนอก-ศึกใน’ ปัจจัยเร่ง รัฐนาวา‘ประยุทธ์2’อยู่ไม่เกินปี

3. จากความขัดแย้งกันภายในพรรคพลังประชารัฐเอง ทราบกันดีว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นการรวมตัวกันของ 2 ขั้วใหญ่ๆ เป็น 1 พรรค แต่มี 2 ร่าง ร่างแรก คือ ขั้วทหาร ซึ่งมีอำนาจในการจัดโครงสร้างพรรค ร่างที่ 2 คือ ร่างของส.ส.กลุ่มสามมิตร ที่มีจำนวน ส.ส.อยู่ในมือเป็น กอบเป็นกำอยู่ประมาณ 20 คน เราจึงได้เห็นความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นระหว่างขั้วทหาร กับ ขั้วของสามมิตรอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะกรณีการเจรจาแบ่งกระทรวงที่มีปัญหา

ปัจจัยข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากย้อนกลับไปจะพบว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2531 สมัยพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดความขัดแย้งกันภายใน กระทั่ง มี ส.ส. 37 คน โหวตสวนมติพรรค ไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรฯ ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยนั้นต้องประกาศยุบสภา

เมื่อเป็นเช่นนี้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากนี้ จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่อยู่ในสถานการณ์เดินอยู่บนเส้นด้าย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทราบถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขดังกล่าววิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า รัฐบาลเสียงปริ่มนํ้าจะเสนอกฎหมายได้ยากทั้งยังสุ่มเสี่ยงว่ากฎหมายจะไม่ผ่าน หากเป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐบาล

‘ศึกนอก-ศึกใน’ ปัจจัยเร่ง รัฐนาวา‘ประยุทธ์2’อยู่ไม่เกินปี

ดังนั้น กฎหมายต่างๆ ควรที่จะเสนอผ่านระบบพรรค หรือ ผ่านมติพรรค ซึ่งแนวคิดนี้ในเชิงปฏิบัติไปได้หากกฎหมายฉบับนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน ที่น่าสนใจ ก็คือ กฎหมายส่วนใหญ่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเงินแทบทั้งนั้น ดังเช่น กฎหมายกัญชา หากสาระสำคัญเกี่ยวกับการออกสิทธิบัตรต่างๆ ก็ต้องชงเข้าครม.เพื่อขอความเห็นชอบอยู่ดี เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงอาจส่งผลให้เกิด “ส.ส.งูเห่า” ตามมาได้ง่าย

นอกจากศึกภายในแล้ว “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2” ยังต้องเตรียมรับมือกับการเคลื่อนไหวนอกสภาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่รู้ขั้นตอนและกระบวนการบริหารจัดการ ส.ส. ดีที่สุดคนหนึ่ง เพราะนายทักษิณ เคยเป็นนายตำรวจติดตามนายปรีดา พัฒนถาบุตร ซึ่งเป็นวิปรัฐบาล ในสมัย พล.อ.เปรม มีหน้าที่เช็กชื่อส.ส.ว่าโหวตให้กับฝ่ายไหน อย่างไร รวมถึงหยิบซองให้กับส.ส.ด้วย ทำงานคู่กับ พล.อ. มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (บิ๊กหมง) ทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ที่ทำหน้าที่ประสานงานทางการเมือง

‘ศึกนอก-ศึกใน’ ปัจจัยเร่ง รัฐนาวา‘ประยุทธ์2’อยู่ไม่เกินปี

รวมถึงการเคลื่อนไหวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วันนี้สวมบทบาทเดินเกมการเมืองนอกสภาอย่างหนัก อาจสร้างกระแสปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งกันเองภายในพรรคพลังประชารัฐได้

“ความขัดแย้งภายใน” นับเป็นอุปสรรคสำคัญมากที่สุดสำหรับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ตามคำพังเพยไทยโบราณที่ว่า สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน สอดรับกับทฤษฎีมาร์กซิสต์ฝ่ายซ้ายที่ว่า ปัจจัยภายในเป็นปัจจัยชี้ขาด จึงเชื่อมั่นได้เลยว่า “รัฐบาลประยุทธ์ 2” จะมีอายุได้ไม่เกิน 1 ปี ฟันธง!! 

++++++++

ตำนานรัฐบาลเสียงปริ่มนํ้า

9 เดือน“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์”ยุบสภา

หากพลิกแฟ้มประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518

‘ศึกนอก-ศึกใน’ ปัจจัยเร่ง รัฐนาวา‘ประยุทธ์2’อยู่ไม่เกินปี

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 มี ส.ส. 72 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ พรรคเกษตรสังคม ที่มีส.ส.19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ที่มีส.ส.อีก 10 คน แต่เมื่อรวมกันแล้วมีส.ส.เพียง 101 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งสภาที่กำหนดให้ต้องมี 135 คน จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 269 คน

ทำให้การแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มีนาคม 2518 รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 ดำรงตำแหน่งได้เพียง 18 วันเท่านั้น ภายหลังจึงกำหนดว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ต้องมีการลงมติ 

หลังจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้น้อง หัวหน้าพรรคกิจสังคมในขณะนั้นมีส.ส.ในมืออยู่เพียง 18 คน มีสถานะเป็นพรรคอันดับ 5 ได้รวบรวมพรรคต่างๆ อีก 12 พรรค จับมือจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงสนับสนุน 140 เสียง ได้ฉายาว่า “รัฐบาลสหพรรค” เผชิญปัญหาการเมืองทั้งในรัฐบาลผสมและกระแสเรียกร้องของกลุ่มมวลชนต่างๆ หลังจากบริหารงานอยู่ได้ 9 เดือน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้นำรัฐบาลเวลานั้น ก็ตัดสินใจประกาศยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม 2519 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3478 ระหว่างวันที่ 13 - 15 มิถุนายน 2562

‘ศึกนอก-ศึกใน’ ปัจจัยเร่ง รัฐนาวา‘ประยุทธ์2’อยู่ไม่เกินปี