การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ ด้วยคำสัญญา

12 มิ.ย. 2562 | 05:35 น.

พฤติกรรมทางสุขภาพ หมายถึง การกระทำกิจกรรมที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย และบริโภคอาหารที่ไม่ดี เป็นต้น ในทางเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมทางสุขภาพนับเป็นผลลัพธ์ของการเปรียบเทียบระหว่าง 1. ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับในปัจจุบันจากการ กระทำ พฤติกรรมดังกล่าว (อันหมายถึง ความพึงพอใจที่ผู้บริโภคได้รับจากพฤติกรรมที่ตนชื่นชอบ) กับ 2. ประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับในอนาคตจากการ ไม่ทำ พฤติกรรมดังกล่าว (อันหมายถึง การมีสุขภาพที่ดี) โดยหากประโยชน์ในปัจจุบันมากกว่าประโยชน์ในอนาคต ผู้บริโภคก็จะมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดี แต่ถ้าประโยชน์ในอนาคตมากกว่าประโยชน์ในปัจจุบัน ผู้บริโภคก็จะมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี

ประโยชน์ในอนาคตของพฤติกรรมทางสุขภาพจะตัองถูกถ่วงนํ้าหนัก (Discounting) เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับประโยชน์ในปัจจุบันได้ โดยค่าถ่วงนํ้าหนักนี้เปรียบเสมือนระดับของการคำนึงถึงอนาคตหากพิจารณาคน 2 คนที่มีลักษณะต่างๆ เหมือนกันทุกประการ จะพบว่า คนที่ให้นํ้าหนักกับประโยชน์ในอนาคตมาก หรือมีระดับการคำนึงถึงอนาคตมาก ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีกว่าคนที่ให้นํ้าหนักกับประโยชน์ในอนาคตน้อยกว่า

พฤติกรรมทางสุขภาพที่แตกต่างกันส่วนหนึ่งจึงเกิดจากการที่ระดับการคำนึงถึงอนาคตของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน ภายใต้ข้อสมมติของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ระดับการคำนึงถึงอนาคตนี้มักจะถูกกำหนดให้เป็นค่าคงที่และไม่เปลี่ยนแปลงตามเงื่อนเวลา

 อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ใช้อธิบายพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดีในระดับที่เป็นโทษต่อสุขภาพ (เช่น การดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่อย่างหนัก) ได้ยาก เพราะไม่ว่าระดับการคำนึงถึงอนาคตจะเป็นอย่างไร หากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุมีผล ก็ย่อมต้องตระหนักว่าการมีสุขภาพที่ดีสร้างความพึงพอใจในระยะยาวได้มากกว่าการมีสุขภาพที่ไม่ดี และแม้จะชอบดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่แค่ไหน ก็ไม่น่าจะมีพฤติกรรมที่แย่มากในระดับที่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ บริโภคถึงจุดหนึ่งก็น่าจะต้องหยุด เพื่อประโยชน์แก่ตนในอนาคต

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ  ด้วยคำสัญญา

 

 

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Econo mics) จึงได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมที่ไม่ดีในระดับที่เป็นโทษต่อสุขภาพ โดยพฤติกรรมดังกล่าวนับเป็นอคติ (Behavioral Bias) รูปแบบหนึ่ง ภายใต้แนวคิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมผู้บริโภคมีระดับการคำนึงถึงอนาคตที่ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตามเงื่อนเวลา และให้นํ้าหนักกับประโยชน์ในปัจจุบันมากกว่าประโยชน์ในอนาคตเสมอ จนเกิดการขาดความอดทน (หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าตบะแตก”) ไม่ได้ปฏิบัติตนในแนวทางที่สอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผลของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และมีพฤติกรรมในระดับที่เป็นโทษต่อสุขภาพในที่สุด

ในทางปฏิบัติ วิธีแก้ไขอาการตบะแตกทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกการควบคุมตนเองในทางจิตวิทยา (Behavioral Self-Control Training) ที่จะทำให้ต้านทานสิ่งเร้าได้ หรือการเข้าร่วมค่ายหรือชมรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสุขภาพต่างๆ เช่น การไปเข้าค่ายลดความอ้วน หรือเข้าร่วมคลินิกบำบัดผู้ติดเหล้า เป็นต้น อันจะเป็นการบังคับตนเองให้ไม่สามารถเข้าถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีทางสุขภาพของตนเองได้ในช่วงเวลาหนึ่ง จนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างถาวรในที่สุด

การสร้างสัญญา (Pre-commitment) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพได้ โดยเป็นวิธีที่ทำให้ผู้บริโภคพิจารณาถึงความพึงพอใจในปัจจุบันและอนาคตไปพร้อมกัน และกำหนดทิศทางของพฤติกรรมของตนในรูปแบบที่จะก่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดในภาพรวมได้ ทั้งนี้กลไกการสร้างสัญญามีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ผู้ที่ให้สัญญา (ว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง) ต้องเต็มใจและยินยอมที่จะให้สัญญาดังกล่าวด้วยตนเอง ไม่ได้มีใครบังคับและ 2.สัญญาดังกล่าวต้องน่าเชื่อถือเพียงพอ โดยต้องมีการผูกการผิดสัญญาไว้กับผลกระทบ (Consequence) บางอย่างที่มีความสำคัญต่อผู้ให้สัญญานั้นๆ ทั้งนี้การกำหนดผลกระทบต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะถ้าตั้งผลกระทบไว้ในระดับที่รุนแรงเกินไป ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองก็อาจจะเลือกที่จะไม่ให้สัญญาตั้งแต่แรก ซึ่งหมายความว่าจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองด้วย แต่ถ้าผลกระทบที่ตั้งไว้เบาเกินไป ผู้ที่ให้สัญญาก็ไม่มีแรงจูงใจในการทำตามสัญญาและก็จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ  ด้วยคำสัญญา

ตัวอย่างของการสร้างสัญญามีหลากหลาย เช่น หากต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคก็อาจสร้างสัญญาด้วยการวางแผนและซื้อมื้ออาหารไว้ล่วงหน้าทั้งสัปดาห์ พร้อมทั้งจำกัดเงินที่ตนเองถือไว้ต่อสัปดาห์ให้น้อยลง เพื่อเป็นการควบคุมให้ไม่มีงบประมาณไปใช้กับการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้

หรือหากผู้บริโภคต้องการลดการดื่มเหล้า ก็อาจสร้างสัญญาด้วยการกำหนดปริมาณและซื้อเหล้าที่บริโภคได้ต่อวันไว้ล่วงหน้าและจำกัดงบประมาณไม่ให้มีเงินพอที่จะไปซื้อเหล้าเพิ่มได้อีก หรือ อาจสร้างสัญญาด้วยการสร้างกลุ่มเพื่อน (Peer Group) ที่ต้องการเลิกเหล้าให้ช่วยเหลือกัน โดยต้องมีการติดตามความก้าว หน้าของกันและกัน และมีการกำหนดผลกระทบของการไม่ทำตามสัญญาอย่างชัดเจน เช่น การสูญเสียมิตรภาพ หรือต้นทุนจากการทำให้เพื่อนผิดหวังเสียใจ เป็นต้น

โดยสรุป พฤติกรรมทางสุขภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และไม่ใช่การตัดสินใจที่มีผลกระทบในปัจจุบันเท่านั้นแต่ผลต่ออนาคตด้วย สาเหตุประการหนึ่งของการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดีเป็นเพราะผู้บริโภคมีลักษณะของการคำนึงถึงประโยชน์ในอนาคตแบบที่ให้นํ้าหนักกับประโยชน์ในปัจจุบันมากและให้นํ้าหนักกับประโยชน์ในอนาคตน้อยเกินไป จนทำให้ตบะแตกบ่อยๆ การสร้างสัญญาและผูกการผิดสัญญาด้วยผลกระทบบางอย่างนับเป็นกลไกหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถใช้ควบคุมตนเองให้มีพฤติกรรมที่สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ตนได้ หากแต่ต้องมีการออกแบบสัญญาดังกล่าวอย่างระมัดระวัง

เอกสารอ้างอิง

Witvorapong, N. and Watanapongvanich, S. (2019). Using pre-commitment to reduce alcohol consumption: Lessons from a quasi-experiment in Thailand. Working Paper.

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3478 วันที่ 13-15 มิถุนายน 2562

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ  ด้วยคำสัญญา