‘ประยุทธ์’ทุ่มแสนล. ดึงงบกลางฉีดเศรษฐกิจ

10 มิ.ย. 2562 | 01:00 น.

คลังชงแพ็กเกจ รัฐบาลใหม่ ดึงงบกลาง-ลดภาษี อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 แสนล้าน กระตุ้นบริโภคคนชั้นกลางเดินหน้านโยบายเร่งด่วน พร้อมชี้ช่องดึงเงินทุนสํารอง 5 หมื่นล้าน มาใช้เพิ่ม

 

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการค้าโลกที่ชะลอตัวลง จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

 

คลังชงแพ็กเกจเศรษฐกิจ

 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สศค.ได้เตรียมข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ว่า สภาพเศรษฐกิจล่าสุดเป็นอย่างไร และมาตรการที่เห็นสมควรจะทำมีอะไรบ้าง ซึ่งจะมีตั้งแต่มาตรการระดับปกติ ปานกลางและยาแรง จะมีทั้งที่ใช้เงินและไม่ใช้เงิน ขึ้นกับการพิจารณาของรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่เห็นสมควรว่าจะทำอย่างไร โดยความแรงของมาตรการจะขึ้นกับจำนวนเงินที่จะใช้จะมากน้อยแค่ไหน และหากจะใช้มาตรการภาษี รัฐบาลยอมสูญเสียรายได้ได้มากแค่ไหน

 

ขณะนี้เห็นชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอตัว ส่วนไตรมาส 2 เห็นตัวเลขเพียงเดือนเมษายน ซึ่งไม่ดีนัก ยังเหลือเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ขณะที่ไตรมาส 4 ที่เคยหวังว่า จะมาช่วยดึงให้เศรษฐกิจทั้งปี
ดีขึ้นแต่ล่าสุดสำนักงานงบประมาณได้ทำปฏิทินงบประมาณปี 2563 ใหม่ ซึ่งจะล่าช้าออกไป 3 เดือนคือ จะเริ่มใช้งบได้ในเดือนมกราคม 2563 แสดงว่า จะไม่มีงบลงทุน 7-8 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2563 ดังนั้นจึงต้องจัดเตรียมมาตรการรองรับในช่วงสุญญากาศดังกล่าวไว้

 

ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบให้ได้มากที่สุดใกล้เคียงกับเงินลงทุนที่จะหายไป โดยมาตรการที่จะเสนอคือ แจกเงินเที่ยวเมืองรอง ช็อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายชนชั้นกลาง ซึ่งจะมีตัวทวีคูณเศรษฐกิจ อย่างแจกเงิน 1,500 บาทเที่ยวเมืองรองที่เคยเสนอไปก็จะนำกลับมาเสนอใหม่ เพราะเห็นว่า หากให้เงินครอบครัวหนึ่ง 2 คน 3,000 บาทเมื่อเดินทางไปเที่ยวจะไม่ได้ใช้แค่ 3,000 บาทแน่นอน แต่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายที่พัก อาหาร นํ้ามันที่จะมีเงินหมุนเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

‘ประยุทธ์’ทุ่มแสนล.  ดึงงบกลางฉีดเศรษฐกิจ

อัดฉีดคนชั้นกลาง

 

สำหรับมาตรการช็อปช่วยชาติ มุ่งไปที่กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ รัฐบาลเพียงให้แรงจูงใจเรื่องภาษี แต่เป็นการใช้เงินของเขาเอง ไม่ใช่เงินรัฐบาล ภาษีที่จะหายไปก็เป็นเรื่องที่จะลดหย่อนในอนาคต จะเก็บภาษีน้อยลง แต่ในระหว่างนี้มีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย จะเสนอให้ขยายเวลาเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกไปอีก 3 เดือน จากที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2562 นอกจากนั้นดูว่าในงบอบรมสัมมนาส่วนไหนที่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายล่วงหน้าได้บ้าง

“กระตุ้นการบริโภคน่าจะเป็นแนวทางเดียวที่พอจะพยุงเศรษฐกิจได้และเห็นผลเร็ว เพราะถ้าดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่าการลงทุนเอกชนเองก็ชะลอ เพื่อรอดูรัฐบาล ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็ใช้เต็มที่แล้ว ส่วนการส่งออกถือว่าเป็นปัญหาที่ยังชะลอตัว และการบริโภคที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจได้มากสุดก็คือชนชั้นกลาง ส่วนผู้มีรายได้น้อยถ้าใส่เงินเข้าไปก็ดี แต่ก็ใช้เท่าที่ได้ ไม่มีเงินเติมเข้ามาไม่มีแรงส่งต่อเศรษฐกิจ”

งบกลาง-ลดภาษีฉีดศก.

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใช้ ซึ่งจากการประเมินคาดว่าน่าจะมีวงเงินเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงต่อสภา นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย จึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

“งบประมาณปี 2562 มีการตั้งงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไว้ทั้งสิน 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังมีวงเงินเหลือพอที่จะนำมาใช้สำหรับการพยุงเศรษฐกิจและและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีว่าจะอนุมัติให้นำงบกลางมาใช้หรือไม่”

 

แนะควักทุนสํารอง5หมื่นล.

 

อย่างไรก็ตามหากงบกลางรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นไม่เพียงพอยังมีงบประมาณอีกก้อนหนึ่งที่เรียกว่า “เงินทุนสํารอง” จ่ายจำนวน 5 หมื่นล้านบาท มาใช้ได้ แต่เงินก้อนนี้ในกฎหมายวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2561 มาตรา 45 กำหนดให้ใช้ได้เฉพาะกรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินและงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นไม่เพียงพอ และเมื่อได้จ่ายเงินไปแล้วให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายปีถัดไปมาเพื่อชดใช้เงินก้อนดังกล่าว

 

สานต่อเกษตร-พาณิชย์

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เผยว่า สศก.เตรียมข้อมูลให้กับรัฐมนตรีว่าการฯ คนใหม่ เพื่อใช้วางแนวนโยบายในการทำงาน แบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.หากเป็นตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ จะยังผลักดันนโยบายต่อเนื่องจากที่ผ่านมา หากเป็นตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นจะต้องไปดูนโยบายของแต่ละพรรคช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า มีแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไรบ้างเพื่อจัดเตรียมข้อมูลให้สอดคล้องกัน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีวาระเร่งด่วนที่เตรียมนำเสนอต่อรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานสานต่อ เช่นเพิ่มร้านค้าธงฟ้าประชารัฐการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น ปาล์มนํ้ามัน มะพร้าว ไข่ไก่ กุ้ง ที่มีปัญหาราคาตกตํ่าเป็นต้น

ขณะที่งานด้านต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอ ที่เจรจาค้างอยู่ต้องเดินหน้าต่อ นอกจากนี้กระทรวงยังได้นำยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,477 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562

‘ประยุทธ์’ทุ่มแสนล.  ดึงงบกลางฉีดเศรษฐกิจ