เฟซบุ๊กเมินหัวเว่ยอีกรายแล้ว  แต่ยันไม่กระทบผู้ใช้ในปัจจุบัน

07 มิ.ย. 2562 | 11:52 น.

เพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯที่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันหลายรายได้เริ่มลดหรือระงับการทำธุรกรรมการค้ากับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีน ที่ถูกทางการสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ (Entity List) ห้ามบริษัทอเมริกันทำการค้าขายด้วย โดยล่าสุด (7 มิ.ย.2562) บริษัท เฟซบุ๊ก อิงค์ ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงว่า บริษัทจะไม่อนุญาตการติดตั้งแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค(Facebook) และแอพฯอื่นๆซึ่งรวมถึง WhatsApp และ Instagram ในลักษณะติดตั้งล่วงหน้า ( pre-installation) ซึ่งแอพฯจะมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนใหม่แกะกล่องของหัวเว่ยอีกต่อไป เพียงแต่ยังไม่ระบุชัดเจนว่า จะเริ่มระงับตั้งแต่เมื่อไหร่      

 

แถลงการณ์ของเฟซบุ๊กระบุว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะมีผลกับสมาร์ทโฟนใหม่ของหัวเว่ย(ที่ยังไม่ออกจากสายการผลิต) ไม่เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนหัวเว่ยที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดเวลานี้ ซึ่งจะยังคงสามารถใช้แอพพลิเคชั่นของเฟซบุ๊กได้ตามปกติรวมทั้งการอัพเดตแอพฯที่ใช้อยู่  อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า การตัดสินใจของเฟซบุ๊กในครั้งนี้จะมีผลกระทบทางลบต่อยอดขายสมาร์ทโฟนออกใหม่ของหัวเว่ยในอนาคต 


เฟซบุ๊กเมินหัวเว่ยอีกรายแล้ว  แต่ยันไม่กระทบผู้ใช้ในปัจจุบัน

เจ้าของแอพฯยอดนิยมรายอื่นๆ สัญชาติอเมริกัน เช่น ทวิตเตอร์ และบุคกิ้งดอตคอม ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือนิยมติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องใหม่แกะกล่อง ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พวกเขาจะดำเนินตามรอยเฟซบุ๊คด้วยหรือไม่   

 

ทั้งนี้ ธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดให้กับหัวเว่ยฯ ในปีที่ผ่านมา โดยบริษัทได้อานิสงส์จากยอดขายที่โตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย  

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยอยู่แล้วในขณะนี้และยังไม่ได้ติดตั้งแอพฯเฟซบุ๊ก หากต้องการใช้แอพฯดังกล่าว ก็ยังสามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาใช้ได้จากกูเกิ้ล เพลย์สโตร์ได้ตามปกติ แต่สำหรับสมาร์ทโฟนหัวเว่ยที่กำลังจะผลิตออกมาในอนาคต จะไม่สามารถเข้าถึงกูเกิ้ล เพลย์สโตร์ และจะไม่สามารถดาวน์โหลดแอพฯใดๆจากบริการดังกล่าว นอกเสียจากว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการกดดันหัวเว่ยฯ ซึ่งสหรัฐฯกล่าวหาว่า บริษัทมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ