ติด IoT นาข้าวหนุนเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์ม

12 มิ.ย. 2562 | 04:30 น.

ล็อกซเล่ย์  นำเทคโนโลยี ไอโอที เซ็นเซอร์ หนุนกระบวน การผลิตข้าวในนาแปลงใหญ่ โครงการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรฯ หวังปั้น “สมาร์ท ฟาร์ เมอร์” เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ก้าวสู่เกษตรกรยุคไทยแลนด์ 4.0 

นายกาญจน์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (มหาชน) เปิดเผยว่า ล็อกซเล่ย์ ได้นำโซลูชันด้านอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) เข้าร่วมโครงการนำร่องเกษตรอัจฉริยะกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตร โดยโซลูชันดังกล่าวประกอบด้วย ชุดอุปกรณ์ไอโอทีเซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งในนาข้าวแปลงต้นแบบกว่า 20 ไร่ เพื่อใช้สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ แสงแดด แรงลม ปริมาณนํ้าฝน ความชื้นในอากาศ ตัวอย่างแมลงศัตรูพืช การเจริญเติบโตของพันธุ์พืช  นำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลแสดงผลผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อประเมินสุขภาพข้าว 

พร้อมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรให้บริหารจัดการแปลงนาข้าวได้อย่างทันท่วงที เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพและมีผลผลิตที่มากขึ้น โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวยังสามารถผนวกใช้ข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยี UAV (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อสำรวจติดตามบันทึกการเจริญเติบโต การเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อประหยัดต้นทุนและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้ดูแลพื้นที่เกษตรได้อย่างยั่งยืน

“เรามีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ และแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีไอโอที และพร้อมเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรของไทย ให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้นำไปบูรณาการต่อยอดดำเนินการสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่การเป็น “สมาร์ท ฟาร์เมอร์” ทำให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดี สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย”

ติด IoT นาข้าวหนุนเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์ม

โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้นำ เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำและไอโอที เซ็นเซอร์ มาใช้บนพื้นที่จริงภายใน เคซี ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่ ของบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 25 ไร่ ในการเก็บข้อมูลภาคเกษตรมาวิเคราะห์และแสดงผลผ่านแดชบอร์ด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มทางด้านเกษตรดิจิทัล
ภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการปลูกข้าวโพดหวานแบบอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทซันสวีทฯ โดยผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจและยังใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน

 

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรของไทยในปัจจุบันนอกจากประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การระบาดของโรค และแมลงศัตรูพืชแล้ว สภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และเกษตรกรมีอายุที่มากขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตรของไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาถ่ายทอดให้เกษตรกรได้ทราบถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยทดแทนและใช้พัฒนาต่อยอดงานด้านการเกษตรแก่เกษตรกรนาแปลงใหญ่ มุ่งสู่การเป็น “สมาร์ท ฟาร์เมอร์” เป็นการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามโรดแมปของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3477 ระหว่างวันที่ 9-12 มิถุนายน 2562