มาดากัสการ์ แหล่งวัตถุดิบอัญมณีสุดท้ายของไทยในแอฟริกา

12 มิ.ย. 2562 | 00:00 น.

มาดากัสการ์ เป็นประเทศ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำพวกแร่ธาตุที่สำคัญมากมาย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการสำรวจขุดเจาะและพัฒนาประโยชน์เชิงพาณิชย์ อาทิ ถ่านหิน เหล็ก นิกเกิล ทองแดง ก๊าซธรรมชาติ และนํ้ามัน อีกทั้งยังมีแร่อัญมณีมีค่า คุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดอัญมณีในโลกอีกด้วย อาทิ ไพลิน ทับทิม มรกต ทูมาลีน ฯลฯ ทำให้มีผู้ประกอบการจากทั่วโลกรวมถึงไทย เข้าไปประกอบธุรกิจอยู่ในมาดากัสการ์นานนับสิบปีเพื่อทำสัมปทานขุดเจาะและรับซื้อแร่ดิบส่งกลับมาเจียระไนในประเทศต้นทาง ก่อนจะผลิตเป็นอัญมณีสำเร็จรูปส่งออกจำหน่ายในตลาดโลก

 

จากสถิติทางการของมาดากัสการ์ พ่อค้าชาวไทยรับซื้อพลอยดิบจากชาวพื้นเมืองท้องถิ่นมาลากัสซี มูลค่ารวมปีละ 7 พันล้านบาท และนำวัตถุดิบอัญมณีดังกล่าวมาแปรรูปในไทยเพื่อส่งออกอัญมณีไปยังตลาดโลก ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ไทยมูลค่า 4 แสนล้านบาทในปี 2560 โดยมาดากัสการ์เป็นประเทศเป้าหมายด้านอัญมณีที่ไทยต้องการจากแอฟริกาในภาพรวม เนื่องจากพ่อค้าพลอยไทยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบพลอยคุณภาพดีขนาดใหญ่ในปัจจุบันอย่างโมซัมบิกและแทนซาเนียได้อีกต่อไป  เนื่องจากทางการของทั้ง 2 ประเทศถือว่าการนำพลอยดิบออกนอกประเทศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และทั้ง 2 ประเทศนี้จะให้สัมปทานเฉพาะบริษัทที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศเห็นชอบเท่านั้น  ดังนั้นแหล่งพลอยขนาดใหญ่ที่พ่อค้าพลอยไทยสามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบันจึงมีเพียงมาดากัสการ์และเอธิโอเปีย ซึ่งพ่อค้าพลอยไทยต่างลงความเห็นว่าพลอยไพลินของมาดากัสการ์เป็นพลอยที่มีคุณภาพเกรด 1 มีคุณลักษณะเทียบเท่ากับพลอยไพลินจากศรีลังกา ในขณะที่พลอยไพลินในเอธิโอเปียจัดเป็นพลอยเกรด 2 ซึ่งไม่ได้รับความนิยมในตลาดโลก

 

อย่างไรก็ตาม แม้การค้าพลอยและรับซื้อพลอยดิบจากชาวพื้นเมืองของมาดากัสการ์ถือว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้ตาม ข้อกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาพ่อค้าพลอยไทยได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยเริ่มตั้งแต่การได้รับวีซ่าถูกประเภท การชำระภาษีตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนก่อนที่จะส่งพลอยดิบเข้ามายังประเทศไทย แต่ในปัจจุบันทิศทางของการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนไปอย่างมากในอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยในตอนนี้ มาดากัสการ์กำลังต้องการให้ผู้ประกอบการต่างชาติจัดตั้งโรงงานเจียระไนพลอยในมาดากัสการ์ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่น เนื่องจากต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและสร้างงานในตลาดแรงงานในประเทศตนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักถึงและปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้ตรงกับสถานการณ์มากขึ้นเพื่อให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางด้านอัญมณีของมาดากัสการ์ตระหนักถึงความร่วมมือของผู้ประกอบการไทยในการช่วยเหลือมาดากัสการ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่แร่อัญมณีภายในประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยในมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านอัญมณีแหล่งสุดท้ายของไทยในภูมิภาคแอฟริกาที่ควรรักษาไว้

มาดากัสการ์ แหล่งวัตถุดิบอัญมณีสุดท้ายของไทยในแอฟริกา

ด้วยแรงงานของมาดากัสการ์ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ รวมถึงผู้ประกอบการจำนวนมากยังอยู่นอกระบบและประกอบการอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอัญมณีในมาดากัสการ์ นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้วมาดากัสการ์ไม่มีปัญหาและอุปสรรคทางการค้าเป็นการเฉพาะ ยกเว้นแต่ปัญหาด้านภาษาที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก และรูปแบบการบริโภคของชาวมาดากัสการ์ที่ไม่เคยชินกับรูปแบบการตลาดแบบตะวันตก ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยท่านใดสนใจเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานเจียระไนในมาดากัสการ์แล้ว ขอแนะนำให้ติดต่อโดยตรงกับ สมาคมไทย-มาดา (Thai-Mada Association) เพื่อประสานงานและขอคำปรึกษาในด้านธุรกิจอัญมณีและกฎระเบียบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อ สถานกงสุลใหญ่ของไทยประจำกรุงอันตานานาริโวที่ [email protected] เพื่อขอรับทราบข้อมูลและหมายเลขติดต่อกับสมาคมไทย-มาดาต่อไป

 

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected] 

 

คอลัมน์ | ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ : กระทรวงการต่างประเทศ สถานกงสุลใหญ่ ณ กรุงอันตานานาริโว

 หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3477 ระหว่างวันที่ 9-12 มิถุนายน 2562